นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 96.18 หดตัวร้อยละ 3.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.01
ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้การบริโภคเอกชนยังคงชะลอตัว
นอกจากนี้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบ การท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยบวกกับภาคเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 17.2 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 17.1 โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทย เดือนมีนาคม 2568 ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะ 4-6 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยภายในประเทศ อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังตามความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ด้านปัจจัยต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติเบื้องต้นตามการขยายตัวของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนการผลิตยูโรโซนอยู่ในภาวะเฝ้าระวังลดลงตามผลผลิตที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม น้ำมันปาล์ม
...
#เศรษฐกิจอุตสาหกรรม