ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ประจำวันอังคารที่ 18 ก.พ.68 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ 17.1-33.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่า ไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดี สีเขียว
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM 2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา
ในช่วงวันที่ 18-19 ก.พ.68 การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ "ดี" ขณะที่ชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้นมีลักษณะเปิดสลับปิด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง/ทรงตัว จากนั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ.68 เนื่องจาก การระบายอากาศอ่อน และในวันที่ 23-24 ก.พ.68 การระบายอากาศอยู่ ในเกณฑ์ "ดี" ประกอบกับมีโอกาสเกิดฝนตก คาดว่า ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง และคาดการณ์วันนี้ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) 37.6 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.68) มีจังหวัดที่ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกินเกณฑ์มาตรฐาน 42 จังหวัด ได้แก่
-ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 38 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-ระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (เกิน 75 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก ลำปาง และสุโขทัย โดย จ.แพร่ มีค่าฝุ่นระดับสีแดงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 และจากการคาดการณ์สถานการณ์ในอีก 7 วันข้างหน้า พบว่าทุกภาคส่วนใหญ่ค่าฝุ่นจะลดลงอยู่ในระดับปานกลางและดี ยกเว้นภาคเหนือที่จะยังอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า มีข้อสั่งการถึงหน่วยงานส่วนภูมิภาคอีก 5 ข้อ คือ
1.ให้จังหวัดส่งผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน โดยจังหวัดที่มีค่าฝุ่นสีแดงให้ส่งข้อมูลจำนวนประชาชน 5 กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ให้กับกลุ่มภารกิจตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT)
2.ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อติดตามการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบล ในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขจากฝุ่น PM 2.5
3.หารือกับคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวตามมาตรการของคณะกรรมการฯ
4.ทบทวนข้อมูลห้องปลอดฝุ่น โดยตรวจสอบข้อมูลจำนวนห้องปลอดฝุ่น การรองรับผู้ใช้บริการ และจำนวนผู้รับบริการให้ถูกต้องครบถ้วน
5.ทบทวนข้อมูลจำนวนการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่ประชาชน โดยเน้น 5 กลุ่มเสี่ยง และเร่งดำเนินการสนับสนุนให้เพียงพอ
#ฝนตก
#ค่าฝุ่นPM
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรุงเทพมหานคร,กระทรวงสาธารณสุข