ทางการอิสราเอล ออกประกาศประกวดราคาสำหรับการก่อสร้างบ้านพักอาศัยของผู้ตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติม 974 หลัง ในพื้นที่นิคมเอฟราตใกล้กับเยรูซาเล็ม ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง ซึ่งกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนของอิสราเอล ชื่อ พีซนาว (Peace Now) ระบุว่า โครงการนี้จะทำให้ประชากรในนิคมเอฟราต เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 และยังขัดขวางการพัฒนาเมืองเบธเลเฮมของชาวปาเลสไตน์ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
การตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มหัวรุนแรงของอิสราเอลและรัฐบาลอิสราเอล แต่ชาวปาเลสไตน์และหลายประเทศทั่วโลกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อสันติภาพ
อิสราเอลยึดครองเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และเยรูซาเล็มตะวันออกในสงครามอาหรับ-อิสราเอลเมื่อปี 2510 การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรกของเขา รวมทั้งการขยายนิคมชาวยิว
กลุ่มสิทธิมนุษยชนอิสราเอล ระบุว่า การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ในวันที่ 20 มกราคม (2568) เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการขยายการตั้งถิ่นฐานอย่างแพร่หลายและเพิ่มความเข้มข้นในการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ นับตั้งแต่ต้นปีนี้ เจ้าหน้าที่อิสราเอลได้รื้อถอนอาคาร 27 แห่งในเยรูซาเล็มตะวันออก รวมทั้งที่อยู่อาศัย 18 หน่วย ซึ่งเป็นความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านของพวกเขาเพื่อขยายการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอล
ปัจจุบันอิสราเอลมีนิคมมากกว่า 100 แห่งทั่วเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง โดยมีผู้ตั้งถิ่นฐานมากกว่า 500,000 คนอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ประมาณ 3 ล้านคน
...
#อิสราเอล
#ปาเลสไตน์
#เวสต์แบงก์