พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ผบช.สอท.), พล.ต.ต.ศิลา กาญจนลักษณ์ ผบก.ตอท.,พ.ต.อ.ศุภกร ผิวอ่อน รรท.ผบก.สอท.5 , พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รรท.ผบก.อก.,พ.ต.อ.ฐาปกรณ์ หนุมาศ ผกก.3 บก.สอท.5 สนธิกำลังตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจภูธรภาค 8 ร่วมเปิดปฏิบัติการ ”PHOBOS AETOR“ กวาดล้างอาชญากรข้ามโลก รวบ 4 แฮกเกอร์ต่างชาติ ใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ นำกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 4 จุด ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต
-จุดแรกตำรวจเข้าค้นห้องพัก แห่งหนึ่ง ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต
-จุดที่ 2 ค้นห้องพักแห่งหนึ่ง ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง
-จุดที่ 3 ค้นห้องพักแห่งหนึ่ง ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต
-จุดที่ 4 ค้นห้องพักแห่งหนึ่ง อ.เมืองภูเก็ต จับผู้ต้องหาเป็นชายชาวต่างชาติ 4 คน
พร้อมตรวจยึดของกลางโทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊กและกระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ต รวมกว่า 40 รายการ ในความผิดฐาน “สมคบคิดเพื่อการกระทำความผิดทางกฎหมายต่อประเทศสหรัฐอเมริกา (Conspiracy to Commit an Offense Against the United States) และสมคบคิดเพื่อกระทำการฉ้อโกงทางสายสื่อสาร (Conspiracy to Commit Wire Fraud)”
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า สำหรับในคดีนี้ เนื่องจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการสั่งการตามหนังสือ ตท.ด่วนที่สุด เรื่อง ทางการสมาพันธรัฐสวิส ขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน มีรูปแบบเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ซึ่งทางการสหรัฐฯและทางการสมาพันธรัฐสวิส ประสานขอความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่อง ขอตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนและความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญามายังประเทศไทย ให้ช่วยตรวจสอบและหาพยานหลักฐานของกลุ่มผู้ต้องหาชาวต่างชาติชาวยุโรป จำนวน 4 ราย มีหมายจับของตำรวจสากล ซึ่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีรูปแบบเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
กลุ่มผู้ต้องหาได้ใช้แรนซัมแวร์จู่โจมบริษัทผู้เสียหายในสวิตเซอร์แลนด์กว่า 17 บริษัท ในช่วงระหว่างวันที่ 30 เม.ย.2566 จนถึงวันที่ 26 ต.ค.2567 โดยกลุ่มผู้ต้องหามีการเข้าถึงข้อมูลสำคัญหลายอย่างในเครือข่ายของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งมีการทำสำเนาและโจรกรรมข้อมูอมูลจากการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย โดยใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ Phobos เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลเข้ารหัสไฟล์ของผู้เสียหาย
จากนั้นจึงวางไฟล์ขู่เรียกค่าไถ่ไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยให้ผู้เสียหายติดต่อเพื่อจ่ายค่าไถ่เป็นสกุลเงินดิจิทัลเพื่อแลกกับคีย์สำหรับถอดรหัส หากผู้เสียหายปฏิเสธการจ่ายเงินทางกลุ่มผู้ต้องหามักจะติดตามการโจมตีด้วยการส่งอีเมลหรือโทรศัพท์ข่มขู่ไปยังผู้เสียหาย เพื่อขู่กรรโชก ว่าจะขายหรือเปิดเผยข้อมูลของเหยื่อหากปฏิเสธที่จะจ่ายเงินเรียกค่าไถ่
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหายังมีการ Ming-Service สกุลเงินดิจิทัลเพื่อขัดขวางการติดตามย้อนกลับการทำธุรกรรมบนบล็อกเซนอีกด้วย ซึ่งพบว่ามีผู้เสียหายทั่วโลกกว่า 1,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือราว 560 ล้านบาท
พล.ต.ท.ไตรรงค์ สั่งการให้ตำรวจไซเบอร์ สืบสวนขยายผล ทราบว่ากลุ่มคนร้ายได้พักกบดานอยู่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ก่อนสนธิกำลังบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจภูธรภาค 8 เข้าตรวจค้นที่พักและจับตัวพร้อมของกลางที่ตรวจยึดไว้ได้ทั้งหมด
#แฮกเกอร์ต่างชาติ
#มัลแวร์เรียกค่าไถ่