สำนักข่าวซีเอ็นเอ รายงานอ้างนักวิเคราะห์เช่น นายปีเตอร์ อับดุลลาห์ กรรมการบริหารจากสถาบันวิจัยอินสติทิวท์ (Segara Institute)ของอินโดนีเซียว่า ปีนี้(2568) จะเป็นปีที่กลุ่มอาเซียนต้องเจอกับโจทย์ที่แก้ไขได้ยากอีกครั้ง ทำให้ต้องเร่งจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตลอดถึงภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของบรรดาประเทศคู่ค้าหลักๆของกลุ่มอาเซียน
นายอับดุลลาห์ กล่าวว่า เรื่องปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก กลุ่มอาเซียนจะต้องจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ผ่านพ้นสภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ควบคู่กับการหาทางแก้ไขปัญหาในประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียน มีปัญหาภายในประเทศที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางแก้ไข เช่น การชะลอตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน เป็นผลจากสัดส่วนของประชากรกลุ่มวัยทำงานที่ลดลง อีกทั้งนโยบายประชานิยมของรัฐบาลประธานาธิบดีบราโวโด ซูเบียนโต อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังในระยะยาว
ส่วนประเทศไทยอยู่ระหว่างการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ 4-5 ปีก่อน แต่มีปัญหาในประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น การบริโภคของครัวเรือนอยู่ในอัตราต่ำ หนี้ของครัวเรือนสูง ตลอดถึงภาวะไร้เสถียรภาพของรัฐบาล
ขณะที่มาเลเซียและเวียดนามต่างมีการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าพอใจในปีที่แล้ว (2567) มีโจทย์สำคัญที่ต้องแก้คือ การรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องและดึงเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าประเทศในช่วงเวลาที่ทั่วโลกมีปัญหามากมาย
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญเห็นตรงกันว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดจะมาจากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ามาบริหารประเทศสมัยที่ 2 ในวันที่ 20 มกราคมนี้ ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เม็กซิโก แคนาดาและกลุ่มสหภาพยุโรป เพื่อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
...
#กลุ่มอาเซียน
#แผนรับมือทรัมป์