นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันนี้ (1 ม.ค.68) ว่าประชาชนบางส่วนทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ ทำให้เส้นทางหลักและเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด มีปริมาณรถหนาแน่น ประกอบกับเมื่อคืนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ อาจทำให้ผู้ขับรถที่จะเดินทางกลับในวันนี้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการง่วงแล้วขับได้ นอกจากนี้ ยังมีประชาชนบางส่วนยังคงเฉลิมฉลองเทศกาลต้อนรับปีใหม่ต่อในพื้นที่ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) จึงได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการเตรียมความพร้อมของด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด จุดบริการ เพื่อรองรับการเดินทางสัญจรของประชาชนในการเดินทางกลับ รวมถึงบริหารจัดการการจราจร ทั้งสายหลักและสายรอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดคับคั่ง อีกทั้งเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายตาม “มาตรการ 10 ข้อหาหลัก” กับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่อง ทั้งการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า ศปถ. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วและดื่มแล้วขับบนเส้นทางสายหลักและสายรองในช่วงเวลามีสถิติอุบัติเหตุสูง และเน้นย้ำให้ด่านชุมชนปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่และไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนองและเสี่ยงอันตราย รวมถึงเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ
ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 31 ธ.ค.67 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”
-เกิดอุบัติเหตุ 262 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 245 คน ผู้เสียชีวิต 36 ราย
-สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 42.75 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 24.43 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 21.37 -ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 89.93 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 76.72 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.84 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.92
-ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01 - 01.00 น. เวลา 17.01-18.00 น. และเวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 8.02
-ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 18.51
-จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,781 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,639 คน
- จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (12 ครั้ง)
-จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (จังหวัดละ 11 คน)
-จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (5 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (27-31 ธ.ค.67)
-เกิดอุบัติเหตุรวม 1,398 ครั้ง
-ผู้บาดเจ็บรวม 1,354 คน
-ผู้เสียชีวิต รวม 215 ราย
-จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด
-จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (44 ครั้ง)
-จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต (43 คน)
-จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ และนนทบุรี (จังหวัดละ 10 ราย)
#ศปถ
#เดินทางปีใหม่2568
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM