การคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาคณะกรรมการตุลาการ หรือกต. และการอุทธรณ์คำสั่งของกต. ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาต่อศาลฎีกา นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เรียกร้องขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาชี้แจงถึงเหตุผลต่างๆของการปรับเพิ่มตัวแทนกต.ว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ นอกจากนั้น ในประเด็นนี้ เสี่ยงต่อการแทรกแซงศาลและส่งผลให้อาจเกิดการใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหารโยกย้ายตำแหน่งต่างๆในศาล และทำให้เกิดวิกฤตการณ์ตุลาการเหมือนปี 2535 ส่วนประเด็นอุทธรณ์คำสั่งกต ต่อศาลฎีกา ยังมองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเชื่อว่า กต. มีกระบวนการที่ดีอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาคดี
สอดคล้องกับนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มที่มาของบุคคลภายนอก เนื่องจากกต.เป็นองค์กรสูงสุดของศาลยุติธรรม หากมีการเพิ่มบุคคลภายนอกเข้ามามาก นอกจากจะเป็นการแทรกแซงศาล ยังเป็นช่องทางให้รัฐบาลใหม่ออกกฎหมายเพิ่มบุคคลภายนอกเข้ามาอีกให้เกินครึ่งหนึ่งเพื่อแทรกแซงกต.
ส่วนเหตุผลที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯระบุถึงการเพิ่มบุคคลภายนอกเข้ามาว่าเพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงาน นั้น ต้องข้อสังเกตว่า หวังผลเพื่อดิสเครดิตศาลยุติธรรม นอกจากนั้น ยังสงสัยด้วยว่า เหตุใดคณะกรรมาธิการยกร่างฯที่เป็นนักกฎหมายไม่ทักท้วงในประเด็นที่ โครงสร้างศาลยุติธรรมไม่เหมือนกับศาลปกครองที่นำแบบมาจากต่างประเทศที่ให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทในกต.ได้
ก่อนหน้านี้ 1,380 ผู้พิพากษา ได้ยื่นคัดค้านร่างรธน.ใน2ประเด็น เพื่อให้สนช.และคณะกรรมาธิการยกร่างฯปรับแก้ไข ซึ่งนายศรีอัมพร เชื่อมั่นว่า การปรับเพิ่มนี้คงไม่ใช่เกมการเมืองและขณะนี้คณะกรรมาธิการยกร่างฯควรปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมอื่นมากกว่า ยืนยันไม่ได้มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญแต่เป็นการปกป้อง กต.เท่านั้น
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร