น้ำในตัวเมืองยะลาแห้งแล้วเร่งเก็บกวาด - ปภ.รายงานน้ำยังท่วม7จังหวัดภาคใต้ เสียชีวิต 12 ราย

01 ธันวาคม 2567, 12:00น.


      หลังจากที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก พื้นที่เศรษฐกิจในกลางเมืองยะลา บริเวณถนนพิพิธภักดี ตั้งแต่หน้าสถานีรถไฟ มาถึงหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขายะลา เช้าวันนี้ระดับน้ำลดลงจนเกือบจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ร้านค้าหลายแห่งก็เริ่มทำความสะอาดร้านค้าของตนเอง และบางร้านก็ได้นำสินค้าที่ถูกน้ำท่วมสภาพดีออกมาจำหน่ายในราคาถูก



          ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี ที่บริเวณสะพานท่าสาป ปริมาณน้ำก็ไม่รุนแรงเหมือน 1-2 วันที่ผ่านมา ส่วนการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ในพื้นที่ตำบลรอบนอกในเขตอำเภอเมืองยะลา ที่มีน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ยังคงอาศัยเรือติดเครื่องยนต์ นำอาหาร น้ำดื่ม มอบให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านชั้น 2 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ศูนย์ ปภ.12 สงขลา ได้สนับสนุนเรือเหล็กท้องแบนติดเครื่องยนต์ จำนวน 4 ลำ มาให้กับทางเทศบาลเมืองท่าสาป เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่





         ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ. รายงานเมื่อเวลา 10.00 น. มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง  สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 78 อำเภอ 508 ตำบล 3,387 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 617,386 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 12 ราย เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ เร่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ



          นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากระหว่างวันที่ 22 พ.ย. - 1 ธันวาคม 67 ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่



1) นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 15 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.เมืองฯ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.จุฬาภรณ์ อ.ปากพนัง อ.พรหมคีรี อ.นบพิตำ อ.หัวไทร อ.เชียรใหญ่ อ.พิปูน อ.สิชล อ.นาบอน และอ.บางขัน รวม 79 ตำบล 545 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,081 ครัวเรือน ปัจจุบันคลองท่าดีมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น



2) พัทลุง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ควนขนุน อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว อ.ป่าพะยอม อ.ป่าบอน อ.ตะโหมด อ.กงหรา และอ.เขาชัยสน รวม 45 ตำบล 308 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 96,122 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระดับลดลง 



3) สตูล เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนโดน อ.เมืองฯ อ.ท่าแพ อ.มะนัง และอ.ละงู รวม 10 ตำบล43 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,604 ครัวเรือน ปัจจุบันแม่น้ำละงูระดับน้ำลดลง



4) สงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 16 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ อ.สิงหนคร อ.เทพา อ.บางกล่ำอ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี อ.จะนะ อ.รัตนภูมิ อ.เมืองฯ อ.นาหม่อม อ.กระแสสินธุ์ อ.ควนเนียง อ.คลองหอยโข่ง และอ.สทิงพระ รวม 123 ตำบล 910 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 186,858 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระดับน้ำลดลง



5) ปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น อ.โคกโพธิ์ อ.ยะรัง อ.ยะหริ่ง อ.เมืองฯ อ.สายบุรี อ.กะพ้อ และอ.ปะนาเระ รวม 116 ตำบล 651 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 144,702 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ปัจจุบันแม่น้ำปัตตานีระดับน้ำลดลง



6) ยะลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.บันนังสตา อ.เมืองฯ อ.ยะหา อ.รามัน อ.กาบัง อ.เบตง อ.ธารโต และอ.กรงปินัง รวม 58 ตำบล 358 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,168 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันแม่น้ำสายบุรีระดับน้ำลดลง



7) นราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.บาเจาะ อ.แว้ง อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง อ.สุคิริน อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.ตากใบ อ.จะแนะ อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงปาดี และอ.เมืองฯ รวม 77 ตำบล 572 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 92,851 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันแม่น้ำสายบุรีมีระดับน้ำลดลง



           กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันละบรรเทาสาธารณภัย KA 32 จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วย The Guardian Teamเข้าให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย โดยมีการจัดตั้งศูนย์พักพิง/



           จุดอพยพในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 213 แห่ง และโรงครัว/รถประกอบอาหารในพื้นที่ประสบอุทกภัย 18 แห่ง นอกจากนี้ ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง



          ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์ข่าวสารสาธารณภัย ได้ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X@DDPMNews ติดตามการประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทางแอปพลิเคชัน “Thai Disaster Alert” ทั้งระบบ IOS และ Android และหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์“ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784



#น้ำท่วมภาคใต้ 

ข่าวทั้งหมด

X