นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ไตรมาส 3/2567 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาส 2/2567 ปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มบริการ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชะลอตัวและภาคการเกษตรปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและบริการ การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลและการลงทุนเร่งขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัว
ภาพรวมเศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2567) ขยายตัว ร้อยละ 2.3 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว ร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการอุปโภคบริโภคประเภทสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และ บริการชะลอลง
ขณะที่การอุปโภคสินค้าคงทนลดลงต่อเนื่อง โดยมีข้อจำกัดสำคัญจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์สูง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาคครัวเรือนระมัดระวัง การใช้จ่ายมากขึ้น
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 6.3 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงิน สำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาด ค่าซื้อสินค้าและบริการ และค่าตอบแทนแรงงานที่เร่งตัวขึ้น การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
ปัจจัยสำคัญมาจากการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนลดลง
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 68 คาดว่าจะขยายตัวได้ ร้อยละ 2.3-3.3 (ค่ากลาง ร้อยละ 3.0) ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 67 โดยมองว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญในปีหน้า คือ การผลักดันให้ภาคส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้า จากผลของนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ นอกจากนี้ ต้องขับเคลื่อนการลงทุนโดยเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ด้านสถานการณ์หนี้ครัวเรือนปี 68 จะยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นต้องรอดูว่ามาตรการแก้หนี้ที่กำลังจะออกมานี้ จะมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด
สภาพัฒน์ ประเมินว่า ในปี 68 การส่งออก ขยายตัวร้อยละ 2.6 ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลร้อยละ2.6ต่อ GDP, อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.3-1.3, การลงทุนภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.5, การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 2.8, การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.0, นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 38 ล้านคน, อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เฉลี่ย 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์, ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล
#เศรษฐกิจไทย
#สภาพัฒน์