นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทย ถือว่าอยู่ในทิศทางที่สบายใจมากขึ้น คาดการณ์ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 3% เล็กน้อย เพราะปลายปีมีผลกระทบจากน้ำท่วมบางพื้นที่ แต่หลังจากนั้น หรือหากมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยถือว่า “พ้นดงหนาม” และน่าจะไปข้างหน้าในระดับที่ดีต่อเนื่อง คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้เกิน 3% ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาราว 4 ล้านคนต่อเนื่อง น่าจะทำให้ทั้งปีนักท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่ระดับ 36 ล้านคนบวกลบ ซึ่งถือเป็นระดับใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 ขณะที่ หากดูการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ หรือ FDI ที่เข้ามาไทยต่อเนื่อง เหล่านี้จะเป็นเครื่องยนต์ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่อ
แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะอยู่ในทิศทางที่ดี แต่ยังมี “หลุมระเบิด” ที่น่ากังวลใจ 3 เรื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ ที่น่ากังวล คือ
1.ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ตัวชี้วัดทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ปัญหาสงคราม สงครามการค้า หรือความรุนแรงเกี่ยวกับสงครามเทคโนโลยี (Tech war) จะมาต่อเนื่องหรือไม่ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าระยะข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น
2.ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน ที่มองว่ายัง “ไม่พ้นน้ำ” เศรษฐกิจจีนมีแต่อ่อนแอลง ตัวเลขหลายเครื่องยนต์น่าห่วง การนำเข้าล่าสุดเติบโตเพียง 0.3% เท่านั้น สะท้อนเศรษฐกิจจีนไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่ราคาบ้านของจีนหดตัว 6-7% ต่อเนื่อง เหล่านี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่พ้นดงหนาม อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤติ ทุก Turning point จะเจอจุดเปลี่ยนได้ หากภาครัฐของจีนบริหารจัดการหนี้เสีย หรือนำหนี้เสียทั้งหมดมาอยู่ภายใต้รัฐ เพื่อนำมาบริหารจัดการ
หากดูทิศทางเศรษฐกิจโลกวันนี้เริ่มพ้นน้ำแล้ว วันนี้ทุกธนาคารทั่วโลกเริ่มลดดอกเบี้ย และลดต่อไปเรื่อยๆ หลังจากนี้โลกจะค่อยๆ ดีขึ้น และเจอการฟื้นตัวรอบใหม่ก็จะเกิดขึ้น จะช่วยดึงให้เราขยายตัวได้หลังจากนี้ หรือหากมีรีเซสชั่น หรือเศรษฐกิจถดถอยมองว่า จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะอยู่ในช่วงดอกเบี้ยลง เงินเฟ้อไม่เยอะ หลังจากนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น มีอย่างเดียวที่จะทำให้การฟื้นตัวของโลกมีปัญหา คือ สงครามที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งเสร็จ เหล่านี้เป็นความน่ากังวลใจ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทุกคนต้องใส่ใจมากขึ้น
3.หนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาน่ากังวล แม้ธนาคารกรุงเทพจะไม่ได้มีในส่วนของหนี้ครัวเรือนมากนัก แต่เหล่านี้ก็เป็นความน่ากังวล เพราะทำให้ระบบไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ จากการมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง 89-90% ประชาชนหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะจากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้รายได้ของคนหายไปเป็นเวลานานจนกระทบต่อเงินออม ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบในที่สุด
#เศรษฐกิจไทย
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน-กกร.