การโยกคดีดิไอคอนกรุ๊ปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ในที่ประชุมวุฒิสภา นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภาสายสื่อมวลชนได้ตั้งกระทู้ถาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการการแก้ไขปัญหากรณีความเสียหายจากปัญหาธุรกิจเครือข่าย “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” โดยนายกรัฐมนตรี มอบให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้มาตอบกระทู้แทน
นายชิบ อภิปรายว่า พิษของดิไอคอน ระบาดไปเกือบ 20 ประเทศ เอเชียก็มาก ยุโรปก็เยอะทั้งในจีน เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี เอสโตเนีย สวีเดน ลักเซมเบิร์ก แคนาดา สหรัฐอเมริกา รวมถึงเขตปกครองพิเศษมาเก๊าและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ และพำนักอยู่ที่นั่น ซึ่งนอกจากจะลงทุนด้วยตัวเองแล้วยังชักชวนญาติชาวต่างชาติให้มาร่วมเปิดบิลลงทุนกับ ดิ ไอคอน รวมความเสียหายตรงนี้อีกกว่า 20 ล้านบาท
มาวันนี้ วันนี้คดีจะถูกส่งไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท และผู้เสียหายมากกว่า 100 คน ท่ามกลางคำถามและข้อโต้แย้งของคนในวงการตำรวจและทนายความที่คร่ำหวอดกับเรื่องทำนองนี้ว่า ตามข้อเท็จจริงเมื่อดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้วก็ต้องรับทุกเรื่องของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลทั้งหมด แต่ก็เกิดความคลางแคลงใจว่า ดีเอสไอจะสามารถสรุปหรือปิดคดีได้ภายในระยะเวลาที่เหลือไม่ถึง 80 วันได้หรือไม่ เพราะถ้าปิดคดีได้ไม่ทันเวลา ก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การโยกคดีไปอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอในครั้งนี้ มีคำสั่งจากใครหรือไม่ที่เห็นช่องว่าจะทำให้ผู้ต้องหาในคดีนี้รอด แม้ว่าดีเอสไอจะแถลงว่ารับเป็นคดีพิเศษเฉพาะความผิดอาญาฐานฟอกเงินเท่านั้น ซึ่งเป็นการดำเนินคดีกับผู้ที่โอนหรือรับโอนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงสอบสวนความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดอื่น ขณะที่ ปปง. จะรับดำเนินการเรื่องทรัพย์สิน
สำหรับ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อ 1 มิ.ย. 61 ประกอบธุรกิจการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ก่อนขยายทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท เมื่อ 9 ธ.ค. 63 มีกรรมการเพียงคนเดียว คือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ “บอสพอล”
ผลประกอบการ 5 ปีล่าสุด ของ ดิ ไอคอน พบว่าในปี 2564 งบการเงินพุ่งสูงแบบก้าวกระโดด ตัวเลขสูงกว่า 4,000 ล้านบาท แตกต่างจากปี 2562 และ 2563 ที่มีรายได้เพียงแค่ปีละ 300 ล้านบาทเศษ โดยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ดิ ไอคอน มีรายได้สูงระดับพันล้านบาทมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีผู้ที่เป็นแม่ข่าย หรือที่เรียกแทนตัวเองว่า “บอส” โปรโมตตัวเองผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้น โดยวิธีหนึ่งที่พบได้บ่อย คือ การขายคอร์สสอนขายของออนไลน์ ราคาถูก 97/98/99 บาท
ในวันนี้ ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกล่องสำนวนคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด 18 ลัง โดยเป็นสำนวนคดีที่รับเรื่องกับผู้เสียหายที่แจ้งความ ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. ถึงวันที่ 16 ต.ค. 2567 ไปส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินการรับเป็นคดีพิเศษ และยังมีสำนวนบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการเจ้าหน้าที่จะทยอยส่งสำนวนที่เหลือให้ในภายหลัง
พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า วันนี้ได้มีการส่งมอบสำนวนของคดีดิไอคอน พร้อมด้วยพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมด ให้กับ DSI เบื้องต้นมีสำนวนที่ส่งในวันนี้ทั้งหมด 18 ลัง 156 แฟ้ม ที่เป็นผู้เสียหายที่มาแจ้งความระหว่างวันที่ 10 - 16 ต.ค. ประกอบด้วยผู้เสียหายลำดับที่ 1-325 ซึ่งบางส่วนจะทยอยตามไปเรื่อยๆ โดยบช.ก. รับผู้เสียหายไว้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,400 กว่าราย ไม่รวมพยานบุคคลที่ทำการสอบไว้อีกหลายปาก
หากสำนวนถูกส่งไปที่ DSI ไปแล้ว ทางบช.ก. จะยังคงรับแจ้งความจากผู้เสียหายอยู่หรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ได้มอบนโยบายไว้แล้วว่า ในระหว่างนี้ผู้เสียหายสามารถที่จะร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทั่วประเทศเหมือนเดิม หรือสามารถไปแจ้งความที่ DSI ก็ได้ ซึ่งทางตำรวจยังทำเหมือนเดิมจนกว่าทาง DSI จะรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งจากนั้นแล้วก็ต้องดูว่าทาง DSI จะประสานให้ทางบช.ก.ดำเนินการอะไรอีกหรือไม่ หากบช.ก. ดำเนินการได้ก็จะดำเนินการให้
เมื่อ DSI รับสำนวนไปแล้ว และยังเห็นช่องโหว่ของสำนวน ทางบช.ก. จะส่งทีมไปช่วยทำคดีกับทาง DSI หรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ ระบุว่า ตามกฎหมาย หาก DSI รับเป็นคดีพิเศษแล้ว อำนาจทั้งหมดก็จะอยู่ที่ DSI ดำเนินการ แต่ในเรื่องที่ว่าจะมีช่องโหว่ของสำนวนนั้นไม่น่าจะมี เพราะตอนนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวนที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยที่ส่งคดีไปก็เพื่อที่จะให้ DSI ดำเนินการต่อให้สมบูรณ์
ในส่วนที่ทางทนาย 18 บอสได้มีการแจ้งความในส่วนของผู้เสียหายให้ตกเป็นผู้ต้องหาตามกัน ตรงนี้สำนวนจะตัดเป็นอีกเลขคดีหนึ่งให้ DSI ทำหรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาในการแจ้งความร้องทุกข์ แต่เราก็ต้องมาพิจารณากันว่า สิ่งที่ร้องทุกข์อยู่ในอำนาจการสอบสวนของตำรวจหรือไม่ หากอยู่ในอำนาจการสอบสวนของเราก็ดำเนินการไป หากเข้าคดีพิเศษ ก็จะส่งให้ DSI เป็นผู้ดำเนินการ
สำหรับการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมก็อยู่ที่พยานหลักฐานที่ตอนนี้ตำรวจรวบรวมหลักฐานแล้ว หากพบว่ามีฐานความผิดอื่นด้วยก็จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ใช้หลักเดียวกันหากสอบสวนแล้วพบว่ามีความผิดฐานอื่นอีกก็จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้
ส่วน DSI จะสามารถทำสำนวนทัน 4 ฝาก หรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า หากมีการแจ้งข้อหา พ.ร.ก. กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน จะเพิ่มเป็น 7 ฝาก 84 วัน ก็จะมีเวลาทำสำนวนเพิ่มขึ้น โดยเป็นการรวมเป็นสำนวนเดียวกัน เพราะตอนนี้มีการกระทำผิดกฏหมายหลายบท จากเดิมที่เรามีพยานหลักฐานเบื้องต้นที่ไปขออนุมัติหมายจับ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และพ.ร.บ.คอมฯ แต่สอบสวนไปแล้วพบว่ามี พ.ร.ก. กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ก็อยู่ในเรื่องเดียวกัน
#ดิไอคอน
#โอนคดีไปดีเอสไอ