ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า มีหมอกควันหนาแผ่ปกคลุมทั่วทั้งภาคเหนือของอินเดียและทางภาคตะวันออกของปากีสถานอีกครั้งในช่วงฤดูหนาวในระยะนี้ เป็นผลพวงจากการที่เกษตรกรในท้องถิ่นเผาขยะทางการเกษตร เช่น ตอซังข้าว หลังฤดูเกี่ยวข้าว นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดถึงควันพิษจากรถยนต์ และไม่มีลมพัดให้อากาศถ่ายเทไปยังที่อื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันในหลายท้องที่ของอินเดียและปากีสถาน
ด้าน IQAir ซึ่งเฝ้าระวังสภาพอากาศทั่วโลก เปิดเผยว่า ดัชนีวัดคุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลี อินเดีย อยู่ที่ 250 เมื่อเช้าวันนี้(28 ต.ค.) หลังจากสภาพอากาศอยู่ในระดับสูงเกิน 200 หรือระดับที่อันตรายต่อสุขภาพอย่างมากมาหลายวันติดต่อกัน ส่วนที่เมืองลาฮอร์ ปากีสถาน ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนทางภาคเหนือของอินเดีย 25 กิโลเมตร ดัชนีวัดคุณภาพอากาศสูงเกิน 500 ในวันนี้(28 ต.ค.) สูงเกินมาตรฐานสภาพอากาศที่ปลอดภัยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก(WHO)เกือบ 65 เท่า
ปัญหานี้มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน ก่อนเทศกาลดีปาวลี หรือทีปาวลี ซึ่งเป็นเทศกาลจุดแสงไฟ บูชาพระแม่ลักษมี เทพีแห่งโชคตามความเชื่อของชาวฮินดูในวันพฤหัสบดีนี้(31 ต.ค.) ซึ่งโดยปกติจะมีการจุดพลุดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองทุกปี แม้ว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะห้ามจุดพลุดอกไม้ไฟ ซึ่งจะยิ่งทำให้คุณภาพของอากาศแย่หนักกว่าเดิม
ที่ผ่านมา ชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญของอินเดียตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด รัฐบาลอินเดียล้มเหลวในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะกรุงนิวเดลีและรัฐอื่นๆในเขตปริมณฑลไม่เข้มงวดกวดขัน เช่น ไม่ดำเนินคดีกับคนที่ต้องรับผิดในการทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเช่น เผาตอซังข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ถึงแม้ว่ามีการห้ามใช้และห้ามขายประทัดดอกไม้ไฟ ก่อนเทศกาลดีปาวลี แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้มีการลักลอบจุดพลุดอกไม้ไฟในเทศกาลสำคัญๆของชาวฮินดูเป็นประจำ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญของอินเดีย เตือนว่า มลพิษทางอากาศในอินเดีย แย่ลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะแพทย์เคยเตือนเรื่องความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินหายใจจากมลพิษทางอากาศ และผลกระทบต่ออายุขัยโดยเฉลี่ย เช่น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสำหรับชาวบ้านหลายล้านคนในอินเดีย
#อินเดีย
#ปากีสถาน
#หมอกควัน
#เทศกาลแสงไฟ