โลกออนไลน์พากันแชร์ข้อมูลกรณีพบพะยูนตายในพื้นที่ทะเลอันดามัน โดยล่าสุดมีรายงานพบตายรวมกัน 7 ตัวในรอบ 6 วัน คือในพื้นที่ จ.ภูเก็ต 2 ตัว ตรัง 2 ตัว สตูล 3 ตัว นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยอมรับว่า สถานการณ์พะยูนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงเดือน ต.ค.นี้ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1–24 ต.ค.นี้ มีพะยูนเกยตื้น 8 ตัว จึงถือว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง จำนวนนี้พบว่าเป็นการเกยตื้นมีชีวิต 1 ตัว ในพื้นที่จ.ตรัง และตายในวันต่อมา นอกจากนั้นเป็นซากเกยตื้น 7 ตัว เป็นซากสด 1 ตัว และซากเน่า 6 ตัวโดยจังหวัดที่พบการเกยตื้นนั้น คือภูเก็ต 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว ตรัง 2 ตัว และสตูลพบ 3 ตัว เมื่อจำแนกพบว่าเป็นพะยูนตัวผู้ 4 ตัว และตัวเมีย 4 ตัว ส่วนใหญ่เป็นพะยูนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น 5 ตัว และตัวโตเต็มวัย 3 ตัว นอกจากนี้ซากที่เกยตื้นอยู่ในสภาพซากที่เน่ามาก
ขณะที่ ตัวเลขของปีนี้พบตายสะสม 30 ตัวแล้ว ถือเป็นตัวเลขที่กระโดดหลังปี 2562 ที่เคยมีสถิติ 13-15 ตัว ทำให้ประชากรพะยูนที่มีตัวเลข 270-280 ตัว ลดลงอย่างรวดเร็ว จากการชันสูตรพะยูนตายมี 2 ลักษณะ คือ สภาพร่างกายซูบผอม ขาดอาหาร สุขภาพไม่ดี ป่วย ส่วนอีก 1 เคส มีร่องรอยพันรัดจากเชือก ส่วนตัวที่อพยพออกไป 12 พื้นที่จุดเสี่ยง กระจายไปถึงอ่าวพังงา หาดราไวย์ ป่าคลอก จ.ภูเก็ต และไปไกลสุดถึง จ.สตูล ใกล้กับมาเลเซีย
ส่วนการแก้ปัญหาขณะนี้ส่งทีมสัตวแพทย์ด้านสัตว์ทะเล ลงไปประเมินสุขภาพทะเลในจุดที่พบพะยูนอพยพ และหาทางตรวจสุขภาพ รวมทั้งวางแผนถึงขั้นจะเสริมอาหารให้พะยูน เพราะจากการตรวจกระเพาะพะยูนไม่ได้กินแค่หญ้าทะเล แต่ยังกินสาหร่ายพวงองุ่น และเสริมหญ้าบางจุด รวมทั้งการทดลองปลูกสาหร่ายและผักชนิดอื่นๆเป็นแหล่งอาหารให้พะยูน
สอดคล้องกับดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า Global Warming kills them all หญ้าทะเลหายไปเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนล้มตายดุจใบไม้ร่วง แค่ 22 เดือนตายไปแล้ว 70 ตัว ข้อมูลที่เพื่อนธรณ์ เห็นคือสถิติพะยูนตาย รวบรวมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นกราฟที่ดูง่ายมาก แบ่งเป็น 2 ช่วง ภาวะปกติ (2548-2561) พะยูนตายเฉลี่ย 13 ตัวต่อปี จำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นช้าๆ จากนั้นคือภาวะโลกเดือด เกิดวิกฤตหญ้าทะเลตาย แบ่งเป็น 2 ย่อยปี 2562-2565 หญ้าใน จ.ตรังเริ่มลดลง พะยูนเริ่มตายมากกว่าค่าเฉลี่ย (20.25 ตัว)
ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเป็นกังวล เพราะจำนวนตายมากกว่าอัตราเกิด หากไม่อยากให้จำนวนพะยูนลดลง ขีดจำกัดคือห้ามตายเกิน 17 ตัว แม้ที่ผ่านมาทำหลายอย่างลุล่วง เช่น แผนพะยูนแห่งชาติ ประกาศเขตอนุรักษ์ทางทะเลทั้งจังหวัดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยกระดับการสำรวจวิจัยช่วยชีวิต ทั้งหมดมีส่วนช่วยประคับประคอง แต่โลกเดือดไม่หยุด รุนแรงหนักขึ้น หญ้าทะเลตายเป็นพื้นที่กว้าง ทั้งจังหวัดตรัง กระบี่ และสตูล ความตายยังเริ่มลามไปตามพื้นที่ใกล้เคียง
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พบว่า พะยูนผอมลงอย่างเห็นได้ชัด หลายตัวป่วย จากนั้นก็จากไปบางส่วนที่หนีไปแหล่งใหม่ ไม่คุ้นเคยอะไรเลย คนในพื้นที่ก็ไม่คุ้นกับที่จู่ๆ มีพะยูนเพิ่มขึ้นกระทันหัน
#พะยูนตาย