นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากความร่วมมือของทีมนักวิจัยจากสามหน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้ง ทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลว่านหัวสืบ (Disporum) จำนวนถึง 4 ชนิด ซึ่งพบในพื้นที่จำกัดบนระบบนิเวศป่าดิบเขาในจ.เชียงใหม่ ลำปาง ตาก และพิษณุโลก การค้นพบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) โดยนายวรดลต์ แจ่มจำรูญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช นักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายอนุวัตร สาระพันธ์ นิสิตปริญญาโท ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Blumea ซึ่งเป็นวารสารเก่าแก่ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ทางด้านอนุกรมวิธานพืช ฉบับที่ 69 ประจำปี 2024 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่สำคัญในการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลนี้โดยพบถึง 6 ชนิดจากทั่วโลกที่พบทั้งหมด 24 ชนิด
อย่างไรก็ตาม พืชชนิดใหม่ที่ค้นพบทั้ง 4 ชนิดนี้อยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าดิบเขาในประเทศไทย รวมทั้งต้องความสำคัญในศึกษาวิจัยการอนุรักษ์ การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศไทย และความจำเป็นในอนุรักษ์พันธุ์พืชหายาก และนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติต่อไป
สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลว่านหัวสืบ (Disporum) จำนวน 4 ชนิด ที่ค้นพบในครั้งนี้ ได้แก่
1. ว่านหัวสืบเชียงดาว Disporum chiangdaoense Sarapan & Suwanph. พบบริเวณป่าดิบเขา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 94 ซม.ลำต้นอวบน้ำ สีม่วงแดงเข้มตลอดต้น มีขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน เกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านนอกสีขาวครีม ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกสีขาวครีม คำระบุชนิด ‘chiangdaoense’ เป็นภาษาละตินที่หมายถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียวดาวที่เป็นสถานที่เก็บตัวอย่าง
2. ชมพูจักร Disporum dorsifixerum Sarapan & Suwanph. พืชถิ่นเดียวพบบริเวณป่าดิบเขา จ.ลำพูน เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 160 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีเขียวตลอดต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน เกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านนอกสีชมพู ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกสีชมพู คำระบุชนิด ‘dorsifixerum’ อธิบายลักษณะการติดของอับเรณู
3.จักรเศวตร Disporum phuhinrongklaensis Sarapan & Chamch. พืชถิ่นเดียวพบบริเวณป่าดิบเขา จ.พิษณุโลกและเชียงใหม่ เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 105 ซม. ลำต้นอวบน้ำ เขียวตลอดต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน เกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านนอกสีขาว ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกสีขาว คำระบุชนิด ‘phuhinrongklaensis’ หมายถึง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าที่เก็บตัวอย่างต้นแบบ
4. มณีราคหมันแดง Disporum scabridum Sarapan & Hodk. พืชถิ่นเดียวพบบริเวณป่าดิบเขา ระดับทะเลปานกลาง 800-1,000 เมตร จ.พิษณุโลก เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 100 ซม. ลำต้นอวบน้ำ เขียวตลอดต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน เกลี้ยง หลอดกลีบดอกด้านนอกสีแดงเลือดนก ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกสีแดงคำระบุชนิด ‘scabridum ’ อธิบายลักษณะกลีบรวมที่รยางค์มีความสาก
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า โดยตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบและตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงทั้งหมดเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ เพื่อการศึกษาและวิจัยต่อไปทางด้านอนุกรมวิธานพืชและที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะได้เร่งศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์ในถิ่นกำเนิดและหาแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
ภาพ/ข้อมูล : หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช รศ.ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี
#ไม้สกุลใหม่
#กรมอุทยานแห่งชาติฯ