จากสถานการณ์อุทกภัย และปริมาณฝนที่ตกมาก ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก เป็นช่วงภัยที่เกิดในช่วง 14 กรกฎาคม – 27 กันยายน 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการลดระยะเวลาขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรรวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมไม่เกิน 90 วัน เหลือไม่เกิน 65 วัน และได้สั่งการให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติงานและบูรณาการการทำงานในพื้นที่ให้สามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้ทันสถานการณ์
ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายแล้ว คิดเป็น 85.16 % และอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย คิดเป็น 14.84 % เนื่องจากยังมีน้ำท่วมขังและบางพื้นที่เกิดกรณีน้ำหลากซ้ำ
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินการสามารถช่วยเหลือเกษตรกรเสร็จสิ้นแล้ว คิดเป็นพื้นที่เสียหาย จำนวน 12,825.50 ไร่ วงเงินช่วยเหลือ 18,855.691.75 บาท อยู่ระหว่างการช่วยเหลือ เกษตรกรจำนวน 79,623 ราย คิดเป็นพื้นที่เสียหาย จำนวน 644,876. ไร่ วงเงินช่วยเหลือ 917,331,001.75 บาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จำนวน 8 จังหวัด และพร้อมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) จำนวน 21 จังหวัด โดยคาดว่าจะสามารถสำรวจให้แล้วเสร็จ และพร้อมจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. ได้ครบถ้วน ภายในปลายเดือนตุลาคมนี้
ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท
ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ส่วนราชการมีวงเงินทดรองราชการในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือ โดยมุ่งหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยพิบัติ แต่มิได้มุ่งหมายที่จะชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ใด ซึ่งต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือเป็นการซ่อมแซมให้คืนสู่สภาพเดิม โดยการเบิกจ่ายเงินทดรองราชการให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราช่วยเหลือที่กระทรวงการคลังกำหนด
Cr:กรมส่งเสริมการเกษตร
#พื้นที่เกษตรน้ำท่วม