กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature : WWF) เผยแพร่รายงานสิ่งแวดล้อม (The Living Planet Report) สำรวจสัตว์ป่ามากกว่า 5,000 สายพันธุ์ พบว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรสัตว์ป่าลดลงร้อยละ 73 โดยโลมาสีชมพูแห่งป่าแอมะซอนและช้างป่าในกาบอง กำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว พร้อมเตือนว่า ถิ่นที่อยู่อาศัยเช่นป่าฝนแอมะซอนกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่
ในรายงานระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์ป่าที่ลดลงคือแรงกดดันจากมนุษย์ การลดลงที่มากที่สุดเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำจืด รองลงมาคือสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งบนบกและในทะเล
ในกาบอง จำนวนช้างป่าลดลงร้อยละ 78 ถึง 81 ซึ่งนักวิจัยพบหลักฐานที่ชัดเจนของการลักลอบล่าสัตว์เพื่อการค้างาช้าง เนื่องจากช้างป่าเกือบครึ่งหนึ่งของทวีปอยู่ในกาบอง การลดลงเป็นอย่างมากจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่ออนาคตของสายพันธุ์นี้
นายดาดี ซุมบา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์ของกองทุนฯ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถย้อนกลับได้และมีผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติ เช่นการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอน ซึ่งอาจ เปลี่ยนระบบนิเวศสำคัญจากการเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไปเป็นแหล่งกำเนิดคาร์บอน
อย่างไรก็ตาม กองทุนสัตว์ป่าโลกพบว่า ยังมีสัตว์ป่าบางชนิดที่เคยตกอยู่ในสถานะที่ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่ผลจากความพยายามอนุรักษ์ทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นและได้รับการปล่อยให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยยกตัวอย่าง กระทิงป่าในยุโรปที่เคยใกล้สูญพันธุ์ในช่วงปี 2470 แต่ในปี 2563 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 6,800 ตัว เนื่องมาจากการเพาะพันธุ์และการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติที่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่คุ้มครอง
...
#กองทุนสัตว์ป่าโลก