กรมอนามัย เตือนโรคและอุบัติภัยช่วงน้ำท่วม แนะสิ่งของจำเป็นในการบริจาค

15 กันยายน 2567, 11:24น.


          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน 4 โรค ที่มาจากน้ำท่วม โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง และโรคท้องร่วง รวมทั้ง ระวังไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว ไฟฟ้าดูด และสัตว์มีพิษต่าง ๆ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง แนะสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้ประสบภัย





          แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ยังคงมอบหมาย ทีม SEhRT กรมอนามัย ลงพื้นที่สนับสนุนสิ่งของและช่วยเหลือประชาชน พบว่า ประชาชนยังคงต้องการความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก อีกสิ่งที่ต้องระวัง คือ โรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง โดยเฉพาะโรคท้องร่วง เพราะในน้ำท่วมอาจมีเชื้ออีโคไล เชื้อซาลโมเนลล่า ทำให้เจ็บป่วย บางรายอาจเสียชีวิตได้ และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น ไฟฟ้าดูด โดนสิ่งปลูกสร้าง ปรักหักพังกระแทก หรือตกท่อที่ไม่มีฝาปิดมองไม่เห็นเมื่อน้ำท่วม เป็นต้น จึงต้องระวังและหลีกเลี่ยงการออกไปยังพื้นที่น้ำท่วม สำหรับวิธีป้องกันการเกิดโรค คือ ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำสกปรก รวมทั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ส้วม ด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หรือแอลกอฮอล์ ดูแล ตักเตือนไม่ให้ลูกหลานลงไปเล่นน้ำที่ท่วมขัง 



         นอกจากนี้ ควรกินอาหารที่สะอาด ร้อน ปรุงสุกใหม่ หมั่นสังเกตอาหารว่ามีกลิ่น สี รสชาติผิดปกติ หรือไม่ หากบูด เสีย ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด ส่วนการป้องกันอุบัติเหตุ คือ ไม่ควรเดินลุยน้ำ ควรอยู่ในบ้านบริเวณชั้นบนที่น้ำท่วมไม่ถึง กรณีที่ประชาชนต้องลุยน้ำออกจากบ้าน ต้องสวมรองเท้าบูทกันน้ำทุกครั้ง แต่หากไม่มีเมื่อถึงศูนย์อพยพ หรือพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ให้รีบล้างทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วเช็ดให้แห้งทันที



          แนะนำสิ่งที่พื้นที่น้ำท่วมต้องการและมีความจำเป็น คือ น้ำดื่มสะอาด เครื่องดื่มแพ็คกล่อง ขนมปังกรอบ อาหารแห้งที่เก็บไว้กินได้นานเมื่อต้องอยู่ในบ้านและออกมาไม่ได้ช่วงน้ำท่วม  รวมทั้งชุดปฐมพยาบาล ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาทาแผลสด ยาดม ยาหม่อง ยาแก้ไข้แก้หวัด ยาแก้ไอ เจ็บคอ เกลือแร่ซอง ยาแก้ ท้องเสีย และยารักษาโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น ยาแก้น้ำกัดเท้า โลชั่นกันยุงยาแก้คัน และยารักษาเชื้อรา เป็นต้น



          สำหรับประชาชนที่ประสบภัย ขอให้ประชาชนพกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวไว้ สำหรับฆ่าเชื้อโรคที่มากับสิ่งของที่สัมผัส ส่วนในศูนย์อพยพที่มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาอาศัย ต้องคำนึงถึงการดูแลและจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ โดยการจัดการสุขาภิบาลพื้นที่ฐานที่ดี เช่น จัดให้มีถังขยะและถุงดำสำหรับใส่ขยะที่เพียงพอกับจำนวนผู้อพยพ



          การดูแลเรื่องการขับถ่ายในส้วมที่สะอาดมีการดูแลความสะอาดโถส้วมและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องส้วม เช่น สายฉีดชำระ ขันน้ำ ก๊อกน้ำให้สะอาดทุกวัน กรณีเป็นส้วมฉุกเฉินควรใช้งานและดูแลความสะอาดร่วมกัน และประสานให้หน่วยงานท้องถิ่นนำสิ่งปฏิกูลจากส้วมฉุกเฉินไปกำจัดเป็นประจำ นอกจากนี้ ของใช้จำเป็นสำหรับประชาชนก็ควรต้องเตรียมมาให้เพียงพอ เช่น ผ้าอนามัย และยาคุมสำหรับผู้หญิง ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย ผ้าอ้อม สำเร็จรูปสำหรับเด็กเล็กและคนแก่ กระโถน ถุงพลาสติกพร้อมที่นั่งถ่ายแบบของคนป่วย และเสื้อชูชีพ



          ขณะนี้หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนักขอเตือนภัยให้ประชาชนระวังอันตรายจากดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ฟังข่าวสาร เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด หากเริ่มมีความเสี่ยงน้ำท่วม รีบเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง ยกสะพานไฟลง ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด เก็บรวบรวมของใช้จำเป็น ยาประจำตัว ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง และรีบออกจากบ้านไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือ และดูแลความปลอดภัยให้กับทุกท่านได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพได้



Cr:เฟซบุ๊กกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข



 



#โรคที่มากับน้ำท่วม



#ของบริจาคน้ำท่วม

ข่าวทั้งหมด

X