หลังการประชุมเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหากลุ่มวัยรุ่นนัดรวมตัวเพื่อแข่งรถจักรยานยนต์ตามถนนต่างๆ ในช่วงค่ำคืนวันหยุด พล.ต.ท. ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับฟังคิดเห็นจากหลายหน่วยงาน พบว่า การแก้ปัญหาจักรยานยนต์ซิ่ง หรือ เด็กแว๊น ต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหายาเสพติดและเรื่องเพศ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยจะเสนอโมเดลเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เช่น การตั้งด่านจนถึงเช้า โดยไม่กังวลว่ากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจะไม่พอ เพราะถนนที่เยาวชนใช้แข่งรถเป็นถนนเส้นยาว ซึ่งมีไม่กี่สาย การผนึกกำลังกับตำรวจ ทหาร ในการตรวจจับยาเสพติด และอาวุธเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุม ยังพูดถึงการทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์กำหนดให้เด็กอายุ 15 ปี สามารถทำได้ โดยตั้งคำถามว่าเด็กอายุ 15 ปี นั้นมีวุฒิภาวะเพียงพอหรือไม่ และจะมีการแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 รวมถึงหารือ ในประเด็นของอู่ซ่อมรถ อู่แต่งรถ ที่ทำให้รถมีความเร็วและแรงด้วย ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ การแข่งจักรยานยนต์ด้วย แต่ประเด็นนี้ต้องขอเวลาอีกสักพักในการพูดคุย
ด้านนายวีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การแก้ปัญหาเยาวชนต้องทำอย่างเป็นระบบ เพราะปัญหาไม่ได้เกิดที่เด็กเพียงอย่างเดียว แต่สาเหตุมาจากผู้ใหญ่ด้วย ดังนั้นจะมีการเชิญผู้รู้ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางออก และดูว่าจะสร้างภูมิต้านทานและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเยาวชนได้อย่างไร โดยเฉพาะครอบครัวที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเยาวชน และมองว่าการเพิ่มโทษ หรือเพิ่มกฎหมายจะไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ โดยการแก้ปัญหาได้มองไว้ 3 อย่าง คือ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และเมื่อเกิดปัญหาแล้ว จะต้องเบี่ยงเบนกระบวนการยุติธรรมหลัก เพื่อฟื้นฟูเยาวชน และสุดท้ายคือการควบคุมความประพฤติ
ส่วนนางอภิรดี โพธิ์พร้อม ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า การแก้ปัญหาของเยาวชนต้องจำแนกปัญหาให้ชัดเจน ว่ากระทำผิดในเรื่องใด และจะแก้ไข ฟื้นฟูเยาวชนอย่างไร โดยมีความเห็นเช่นเดียวกันว่าการเพิ่มโทษจะไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ สิ่งสำคัญคือทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชน และมองว่าสื่อก็เป็นส่วนสำคัญในการชี้นำสังคมด้วย