ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ต้อนรับนายกรัฐมนตรี เคียร์ สตาร์เมอร์ แห่งสหราชอาณาจักรที่ทำเนียบขาว ซึ่งประธานาธิบดีไบเดน กล่าวก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้นว่า จะเป็นการหารือเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยให้ความสำคัญกับการปล่อยตัวประกันที่ฮามาสลักพาตัวไป การบรรลุข้อตกลงหยุดยิง และการส่งความช่วยเหลือประชาชนในฉนวนกาซา นอกจากนี้จะมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ส่วนนายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์ เปิดเผยว่า มีการหารือกันในหลายประเด็น รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน ตะวันออกกลาง และอินโด-แปซิฟิก
ทำเนียบขาวเพิ่มเติมว่าผู้นำทั้งสองแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการที่อิหร่านและเกาหลีเหนือจัดหาอาวุธให้รัสเซีย
ในการแถลงข่าวภายหลังการประชุม ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวขอบคุณสหราชอาณาจักรสำหรับการสนับสนุนยูเครน และกล่าวว่าสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือยูเครนป้องกันการทำลายล้างจากการรุกรานของรัสเซีย
ส่วนนายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์กล่าวว่า ช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความขัดแย้งในยูเครน และจะมีการหารืออีกครั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในสัปดาห์หน้า
การพบหารือระหว่างผู้นำทั้งสองมีขึ้นในขณะที่ชาติพันธมิตรตะวันตกกำลังพิจารณาเรื่องการให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลที่ได้รับจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรโจมตีดินแดนของรัสเซีย ตามคำร้องขอของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ที่ต้องการใช้อาวุธพิสัยไกลอย่าง ATACMS ของสหรัฐฯ และจรวด Storm Shadow ของสหราชอาณาจักรยิงโจมตีดินแดนภายในรัสเซีย แต่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า การให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีได้ หมายความว่า ประเทศนาโต สหรัฐฯ และประเทศยุโรปกำลังทำสงครามกับรัสเซีย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของความขัดแย้ง ดังนั้นรัสเซียจะมีการตัดสินใจอย่างเหมาะสมต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้น
ส่วนในประเด็นสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งก่อนหน้านี้สหราชอาณาจักรจะดำเนินนโยบายสนับสนุนอิสราเอลในทิศทางเดียวกันกับสหรัฐฯ แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์ประกาศระงับใบอนุญาตส่งออกอาวุธประมาณ 30 ฉบับให้แก่อิสราเอล เพราะอาจเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ สำหรับการส่งออกอาวุธจากสหราชอาณาจักรไปยังอิสราเอลอยู่ที่ประมาณ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
....
#โจไบเดน
#สหรัฐอเมริกา
#สหราชอาณาจักร
#ยูเครน
#นาโต