สภาพอากาศหลังจากนี้ และความกังวลเรื่องพายุซ้ำพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมอย่างสาหัส ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ประเมินความเสี่ยงที่พายุจร จะพัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงฤดูฝนนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.67 จนถึงประมาณวันที่ 25 ก.ย.67 ยังไม่พบพายุที่จะก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ที่จะส่งอิทธิพลโดยตรงต่อประเทศไทย แต่หลังจากนี้ ต้องติดตามประเมินทิศทางของพายุอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเร่งระบายมวลน้ำออกโดยเร็วที่สุดเพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับรองรับปริมาณฝนในช่วงหลังจากนี้ ขณะที่ ในช่วงนี้ 12-20 ก.ย.67 จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านจากภาคเหนือมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและหย่อมความอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามที่เคลื่อนตัวมายังประเทศไทย จะส่งผลให้มีฝนปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ประกอบกับปัจจุบันแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าระดับน้ำบริเวณสถานีเชียงคาน จ.เลย มีแนวโน้มน้ำล้นตลิ่งประมาณ 1 เมตร ขณะเดียวกันที่สถานีหนองคาย จ.หนองคาย มีแนวโน้มน้ำล้นตลิ่ง ประมาณ 1-2 เมตร ซึ่งจะส่งผลให้การระบายน้ำของลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
สทนช. ได้รายงานข้อมูลการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำดังกล่าวให้น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ รับทราบแล้ว ได้มอบหมายให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำร่วมกัน
วันนี้ (12 ก.ย.67) หลังจาก น.ส.แพทองธาร แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จแล้ว นัดประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วม เวลา 14.00 น. ที่อาคารรัฐสภา
#น้ำท่วม
#น้ำโขง
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ