โครงการสังเกตการณ์โลกและสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป โคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) เผยแพร่รายงานระบุว่า โลกเพิ่งผ่านช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในปีนี้ (2567) ซึ่งมีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เอลนีโญ ที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้น อากาศโดยรวมอุ่นขึ้น และมีผลต่อสภาพอากาศทั่วโลก
ในรายงานของโคเปอร์นิคัสระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของซีกโลกเหนือระหว่างเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน อยู่ที่ 16.8 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีก่อนหน้า 0.03 องศาเซลเซียส ซึ่งนายคาร์โล บวนเทมโป ผู้อำนวยการโครงการ ระบุว่า เป็นฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ และแม้ว่าปรากฏการณ์ลานีญาจะทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางเย็นลง แต่ไม่มีผลถึงขั้นเปลี่ยนแปลงแนวโน้มสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่เป็นที่ชัดเจนมากขึ้นว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายพื้นที่ของโลก เช่น น้ำท่วมใหญ่ในซูดาน สภาวะแล้งจัดในเกาะซิซิลีและซาร์ดิเนียของอิตาลี รวมถึงพายุไต้ฝุ่นที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 รายในฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และจีน
นายโจนาธาน โอเวอร์เพ็ค คณบดีด้านสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า ที่เมืองแอริโซนามีอุณหภูมิเฉลี่ย 37 องศาเซลเซียสติดต่อกันมากกว่า 100 วันในปีนี้ คลื่นความร้อนที่ยาวนานและรุนแรงขึ้นทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในบางพื้นที่ ขณะที่บางพื้นที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วม
...
#โลกร้อน
#สหภาพยุโรป