สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยนาท กรมประชาสัมพันธ์ รายงานเรื่องการระบายน้ำจากภาคเหนือลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยรายละเอียด
-ปริมาณน้ำที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย ถือว่าต่ำกว่าตลิ่ง ส่วนสถานีตรวจวัดระดับน้ำบางระกำ พบว่าปริมาณน้ำล้นตลิ่งอยู่ 80 เซนติเมตร และจะลดลงเรื่อยๆ จนเข้าสู่ภาวะปกติได้ ประมาณวันที่ 10-11 ก.ย.67
-จังหวัดพิษณุโลก ไม่ว่าจะเป็นอำเภอบางระกำ อำเภอพรหมพิราม ที่มีปัญหาน้ำล้นตลิ่ง น้ำจะไหลลงมาที่ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำ P2 ระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาที่จังหวัดนครสวรรค์ขณะนี้ 1,560 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะมีระดับน้ำสูงสุดประมาณวันที่ 10-11 ก.ย.67ประมาณ 1,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยน้ำจากนครสวรรค์ จะไหลลงสู่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดสมุทรปราการ แต่ก่อนที่ปริมาณน้ำจะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาทก็จะมีแม่น้ำสะแกกรัง ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านขวา ประมาณ 100-200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งการบริหารจัดการน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีการระบายน้ำออกทางด้านซ้ายและขวา ดังนั้นปริมาณน้ำที่จะระบายออกจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในแนวดิ่ง สถานี P2 จะอยู่ที่ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นอกจากนี้ ยังมีสถานีบางไทร ที่จะระบายน้ำก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานีนี้ สามารถรองรับได้ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ขณะนี้อัตราเฉลี่ยที่ผ่านมาประมาณ 1,400-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงนี้ด้วย ก็ได้มีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำ ทั้งกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีการเสริมกระสอบทรายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้ามาได้
ปริมาณฝนที่จะตกลงมาในช่วงเดือนนี้ คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้มีการประชุมเตรียมรับมือแล้ว โดยจะเร่งระบายน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้ให้เร็วที่สุด ส่วนคันดิน และพนังกันน้ำที่มีการชำรุด ก็จะต้องซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม เพื่อเตรียมรับมือปริมาณน้ำที่จะมาใหม่อีกครั้ง ขณะที่ พื้นที่ภาคกลางมีช่วงเดือนกันยายน ก็มีแนวโน้มปริมาณน้ำฝนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งกรณีฝนตกเหนือเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีทุ่งบางระกำ ที่สามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งบึงบอระเพ็ดที่ยังสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สทนช. พยายามจะระบายน้ำให้ปริมาณไหลลงสู่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด เพราะปริมาณน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว จะส่งผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาด้วย
#น้ำเหนือ
แฟ้มภาพ
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยนาท กรมประชาสัมพันธ์,สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครสวรรค์