ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกบง. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ประจำเดือนมิถุนายนไว้ที่ 23.96 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือนจะปรับลดลง 32 สตางค์ต่อกิโลกรัมก็ตาม เนื่องจากราคาเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก หากปรับลดอาจไม่ส่งผลต่อราคาขายปลีกแอลพีจีเท่าใดนัก จึงเห็นควรนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของแอลพีจี เพื่อสำรองไว้ใช้บริหารราคาขายปลีกในอนาคต เมื่อต้นทุนในการจัดหาเพิ่มมากขึ้น โดยมีมติให้นำต้นทุนที่ลดลงจัดเก็บเข้าเงินกองทุนน้ำเชื้อเพลิงสำหรับแอลพีจี ทำให้กองทุนจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาทต่อเดือน หลังหักภาระชดเชยที่ทำให้ราคาก๊าซทั่วประเทศมีราคาขายปลีกเดียวกัน นายณรงค์ชัย ย้ำว่า ในปัจจุบันกองทุนน้ำมันสำหรับแอลพีจีมีวงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งการที่ไม่ลดราคา เพราะเห็นว่าราคาขายปลีกถึงผู้บริโภคโดยตรงอาจไม่ลดลง แต่การลดราคาอาจจะตกอยู่ที่คนกลาง ดังนั้น การเก็บเงินเข้ากองทุนก็จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้น สำหรับแนวคิดในการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตแอลพีจีภาคขนส่ง ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ อยู่ในขั้นตอนการศึกษา รอให้กระทรวงการคลังประกาศแนวทางการจัดเก็บโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน
สำหรับการดูแลเสถียรภาพราคาในอนาคต รมว.พลังงาน ชี้แจงถึงนโยบายราคาแอลพีจีในอนาคตว่า เพื่อความเป็นธรรมของผู้ใช้รถยนต์รัฐบาลจะมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตเฉพาะแอลพีจีภาคขนส่งเท่านั้น ส่วนภาคครัวเรือนไม่มีการจัดเก็บภาษี โดยการจัดเก็บจะมีผลก็ต่อเมื่อการแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพสามิตเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รมว.พลังงาน ยืนยันว่า รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว เพื่อกระจายเชื้อเพลิงและคำนึงถึงต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยมีแผนลดมลพิษให้น้อยที่สุด ซึ่งในสหรัฐฯ แม้จะมีการลดการใช้ถ่านหิน เนื่องจากพบก๊าซจำนวนมาก แต่ในยุโรปพบว่ามีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 และลดการใช้ก๊าซถึงร้อยละ 24 ขณะเดียวกันเยอรมนีมีแผน 3 ปี ในการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน 7,000 เมกะวัตต์ และลดโรงไฟฟ้าจากก๊าซถึง 10,000 เมกะวัตต์
CR:แฟ้มภาพ