กทพ.เปิดปฐมนิเทศโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง ตราด เพิ่มศักยภาพการเดินทาง-ท่องเที่ยว

02 กันยายน 2567, 11:56น.


          เริ่มประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 หรือ การปฐมนิเทศโครงการ เพื่อทำความเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) โครงการนี้เริ่มปีนี้ และ มีกำหนดว่าจะเสร็จเดือนพ.ค.ปี 2569 เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ในการเดินทางสู่เกาะช้างได้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปเกาะช้าง และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 24 เดือน ครอบคลุมการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม การสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียด และการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ



         นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. พร้อมทั้ง นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดการประชุม รองผู้ว่า กทพ.เปิดเผยว่า การเริ่มต้นโครงการจะมีการศึกษาทั้งข้อดี ข้อเสีย การจัดทำโครงการนี้ต้องมีข้อดีมากกว่าแน่นอน เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทุกเรื่อง 



         การประชุมตั้งแต่วันนี้ จนถึง สิ้นปี กทพ.ประสาน กรมทางหลวงชนบท จะมีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น เพื่อสรุปทางเลือกที่เหมาะสม จาก 4 แนวทางเลือก  และจะมีการสรุปอีกครั้งช่วงต้นปีหน้า           การคัดเลือกแนวเส้นทางของโครงการ จะต้องพิจารณาหลายด้านทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การลงทุน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางด้านกายภาพ น้ำทะเล และคุณภาพน้ำทะเล ผลกระทบทางชีวภาพ ประมงชายฝั่ง คุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วมของประชาชนและการท่องเที่ยว เป็นต้น         สาเหตุที่จะต้องสร้าง โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด คือ ความไม่สะสวกในด้านการขนส่ง การเดินทางจากเกาะช้างมาที่ฝั่ง และนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวเกาะช้าง เช่น เรือเฟอร์รี่ มีข้อจำกัดเรื่องความจุ และ เวลา การก่อสร้างโครงการทางพิเศษจะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินในเวลากลางคืน ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของนักเรียนที่อยู่เกาะช้างต้องเดินทางมาเรียนหนังสือในจังหวัด การขนส่งสินค้าไม่มีทางเลือกในการขนส่งอื่นๆ ที่จะสะดวกและลดต้นทุนการขนส่งลง ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับ จ.ตราด เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย ดังนั้น พื้นที่ที่จะเลือกในการก่อสร้าง  จะต้องสามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายถนนสายหลัก พื้นที่โล่ง เนื่องจาก ต้องการเลี่ยงพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่น ลดผลกระทบการรื้อย้าย         หลังจากที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น การข้อเสนอในการเสนอแนวทางเลือกเส้นทางที่ 1 และเส้นทางที่ 2  ส่วนแนวทางการก่อสร้างควรระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุ และต้องการให้ผู้ดำเนินโครงการชี้แจงให้ชัดเจนถึง 4 แนวทาง        แนวทางการศึกษาโครงการนี้ กทพ.มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เทสโก้ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม



4 แนวทาง ประกอบด้วย



-แนวเส้นทางเลือกที่1 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณ กม.0+850 บ้านหนองปรือ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่านถนนอนุสรณ์สถาน และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพรและท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง แนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ และไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม. 8+550 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านหนองปรือ จะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่ มีระยะทางรวมประมาณ 9.2 กิโลเมตร



-แนวเส้นทางเลือกที่ 2 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางจะเป็นตำแหน่งเดียวกันกับแนวเส้นทางเลือกที่ 1อยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณ กม.0+850 โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.6+750 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านหนองปรือจะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณก่อนถึงชายฝั่งของเกาะช้างแนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่2 มีระยะทางรวม ประมาณ 9.95 กิโลเมตร



-แนวเส้นทางเลือกที่ 3 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ กม.2+ 840บ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านธรรมชาติล่าง จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.5+300 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง สำหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณชายฝั่งของเกาะช้างแนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100-200 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้ แนวเส้นทางเลือกที่ 3 มีระยะทางรวม ประมาณ 5.90 กิโลเมตร-แนวเส้นทางเลือกที่ 4 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ กม. 3+500 บ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเรือเกาะช้างอ่าวธรรมชาติ จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.1+900 บ้านคลองสน ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง สำหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณก่อนถึงชายฝั่งของเกาะช้าง แนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งมีความกว้างประมาณ150-200 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่ มีระยะทางรวม ประมาณ 5.59 กิโลเมตร#โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง



#ตราด



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X