การให้ความช่วยเหลือ 3 ชีวิตภายในอุโมงค์ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงคลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.67 รู้จุดแล้วแต่ยังเข้าไปไม่ถึงผู้ประสบภัยทั้ง 3 คน
สถานีวิทยุจส.100 สอบถามข้อมูลจากพ.ต.อ.วีรพล ระเบียบโพธิ์ ผกก.สภ.ปากช่อง เมื่อเวลา 02.08 น.วันนี้ (29 ส.ค.67) ว่ายังไม่น่าจะถึงตัว เพราะไม่สามารถใช้อุปกรณ์หนักในการขุด หรือ เจาะก้อนหินได้ เนื่องจาก อาจทำให้หินหรือดินถล่มลงมาเพิ่มได้ ไม่ปลอดภัยกับคนที่ติดอยู่หรือคนที่เข้าไปทำงาน และยังต้องขุดลึกลงไปใต้ดิน การทำงานใช้ความระมัดระวังสูงสุด ใช้เครื่องมือแบบพื้นฐานและแรงคนในการทำงาน
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ รายงานสถานการณ์ช่วงเวลา 04.00 น.วันนี้ (29 ส.ค.67) สรุปสถานการณ์ ดังนี้
1.พนักงานชาวจีน แจ้งวิศวกรชาวไทย เวลา 02.00 น.ว่าได้ใช้เครื่องเจาะกระแทกดำเนินการเจาะดิน และหินในแนวเฉียง ประมาณ 45 องศาทะลุหิน พบชั้นปูน (ปูนผสมสารเร่งแข็งตัว ที่ฉีดผิวอุโมงค์ ) ซึ่งมีความหนาประมาณ 1 เมตร จากจุดที่คาดว่าจะมีผู้ประสบภัยตามที่เครื่องสแกนตรวจพบสัญญาณชีพ ในการเจาะทะลุผ่านชั้นคอนกรีต
2. วิศวกรจึงได้ประสานให้ทีมUSAR วางแผนการทำงานในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เมื่อเจาะทะลุชั้นปูน ณ จุดดังกล่าว
3.ตรวจไม่พบการทรุดตัวของเพดานและผนังอุโมงค์
**ยังไม่พบผู้ประสบภัยในพื้นที่เกิดเหตุ
ส่วนสรุปการทำงาน เมื่อคืนนี้(28 ส.ค.67) เวลา 22.00 น.
-ทีมวิศวกรจีน ใช้เทคนิคขุดเหมืองค้ำยัน ทำเป็นกล่องขนาดเล็ก กว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตรและลึก 6 เมตร ใช้เหล็กบีมทำเป็นกล่องและยันกับผนังอุโมงค์ ไม่ให้ดินถล่มลงมาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำการค้นหาในจุดที่คาดว่าจะมีผู้ประสบภัยติดอยู่
-ลำเลียงหินและดินที่กีดขวางการทำงานของทีมกู้ภัยออกจากพื้นที่ภายในโครงค้ำยัน
-ทีม USAR สแกนหาสัญญาณชีพและการเคลื่อนไหว โดยตรวจพบสัญญาณที่ความลึกในระยะ 1.8 เมตร ใต้ก้อนหินขนาดใหญ่
-ชาวจีน ได้ใช้เครื่องเจาะกระแทกดำเนินการเจาะหินในแนวเฉียง ประมาณ 45 องศา เจาะได้ระยะความลึกประมาณ 1 เมตร จากจุดที่คาดว่าจะมีผู้ประสบภัยตามที่เครื่องสแกนตรวจพบสัญญาณชีพใต้ก้อนหิน ในความลึก 1.8 เมตร คงเหลือประมาณ 0.8 เมตร โดยใช้กำลังคนในการขนย้ายเศษหินจากที่แคบและใช้รถขุดตักไฮโดรลิกในการปรับเกลี่ยหินไว้ด้านข้างอุโมงค์ และได้มีการเพิ่มการติดเครื่องตรวจจับการทรุดตัว (survey) บริเวณเพดานและผนังอุโมงค์ สำหรับวัดระดับการเคลื่อนตัวของผนังอุโมงค์ ยังไม่มีสัญญาณการเคลื่อนตัวของผนังโครงสร้าง ยังไม่พบผู้ประสบภัยในพื้นที่เกิดเหตุ
-ติดเครื่องตรวจจับการทรุดตัว (sensor) บริเวณเพดานอุโมงค์ จำนวน 3 จุด เพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้แก่ผู้ปฎิบัติงาน
-หน่วยแพทย์ ทีมกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เตรียมวางแผนในการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังโรงพยาบาลไว้เรียบร้อยแล้ว
#ดินถล่ม
#อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา