ความคืบหน้าเหตุเครื่องบินตกที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม (2567) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิดเผยว่า ได้ติดต่อประสานบริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส จำกัด (Thai Flying Service) ถึงแนวทางในการดูแล และเยียวยาผู้โดยสาร กรณีเที่ยวบิน TFT209 ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งทางบริษัทไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส กำลังประสานบริษัทประกันเพื่อหาข้อสรุปการเยียวยาและชดเชย โดยมีการทำประกันครอบคลุมผู้โดยสาร นักบิน สัมภาระ และบุคคลที่สาม กรมธรรม์มีอายุถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 ครอบคลุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
บริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส จำกัด ยังมีอากาศยานที่สามารถนำมาให้บริการได้ โดยปัจจุบันมีเที่ยวบิน ไปและกลับ กรุงเทพ-เกาะไม้ซี้ ทั้งหมด 4 เที่ยวบินต่อวัน โดยกำลังมีการตรวจสอบและเตรียมความพร้อมทั้งอากาศยานและนักบินก่อนที่จะกลับมาดำเนินการต่อ สำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดให้บริการ สามารถประสานกับผู้จัดการท่องเที่ยวเพื่อช่วยจัดการให้เดินทางโดยวิธีอื่น เช่น เดินทางไปลงสนามบินตราดและจัดรถ-เรือ รับส่ง ไปยังที่พักบนเกาะได้
ในด้านการกำกับดูแล CAAT ซึ่งเป็นผู้ออกใบรับรองสมควรเดินอากาศ (Certification of Airworthiness - C of A) จะต้องเข้าตรวจสภาพอากาศยานว่าอยู่ในสภาพและมีอุปกรณ์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน และมีการตรวจเอกสารในการบำรุงรักษาอากาศยานว่าได้รับการบำรุงรักษาตามมาตรฐานหรือไม่อย่างไร สำหรับอากาศยานที่เกิดเหตุได้รับใบรับรองสมควรเดินอากาศ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 และจะหมดอายุวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 โดยบริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส จำกัด เป็นสายการบินที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยด้วย ซึ่ง CAAT จะต้องเข้าไปตรวจสอบระบบของสายการบินก่อนให้ใบรับรองมาตรฐาน (Air Operator Certificate - AOC) และสายการบินมีหน้าที่ในการรายงานประวัติการบำรุงรักษา (Maintenance Review Document ) ให้ CAAT ทราบทุก ๆ 6 เดือน
ซึ่ง ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส ได้รายงานเข้ามาล่าสุดเมื่อ 17 มิถุนายน 2567 ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ
นอกจากนี้ CAAT จะมีการตรวจตราสายการบิน (Base Audit) และการตรวจ ณ ลานจอดอากาศยาน (Ramp Inspection) เป็นประจำทุกปี สำหรับบริษัท ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส CAAT มีการตรวจสถานีหลัก (Base Audit) ปี 2567 ระหว่าง 23 - 26 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา และทำการตรวจ ณ ลานจอดอากาศยานประจำปี (Ramp Inspection) ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ซึ่งยังไม่พบข้อบกพร่องเกี่ยวกับอากาศยาน
ทั้งนี้ CAAT ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์การสืบสวน โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (กสอ.) เพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ต่อไป
-----
แฟ้มภาพ
#สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
#เครื่องบินตกที่บางปะกง