หมอยง โพสต์ กลุ่มเสี่ยง-อาการ และความจำเป็นในการรับวัคซีนโรคฝีดาษวานร

23 สิงหาคม 2567, 15:58น.


          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ‘Yong Poovorawan’ ถึงฝีดาษวานรหรือ Mpox โดยกล่าวถึง กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของโรคว่า บุคคลที่ติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว จะทำให้เกิดโรครุนแรง ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมีดังนี้



          -บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษา กินยากดภูมิต้านทาน โรคเรื้อรังที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำร่างกายอ่อนแอ



          -เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี



          -บุคคลที่มีผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง eczema



          -สตรีตั้งครรภ์



          การติดต่อของสายพันธุ์ 1b สามารถติดต่อได้ทางฝอยละอองที่ออกมาทางจมูกและปาก และการสัมผัส กับผู้ป่วย การสัมผัสฝอยละออง การติดต่อจึงง่ายกว่าสายพันธุ์ 2b จึงทำให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ ความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ 1b มีความรุนแรงมากกว่า 2b ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการติดเชื้อในวัยเด็กและเด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ซึ่งต่างกับผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก โดยเฉพาะที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เคยปลูกฝี ป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษมาแล้ว จึงมีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ที่มาปกป้องหรือลดอาการของโรคได้บางส่วน



          ทำไมผู้สูงอายุจึงไม่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำหรับ Mpox ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนป้องกันฝีดาษมาแล้ว วัคซีนดังกล่าวเมื่อปลูกฝีแล้วสามารถมีภูมิต้านทานต่อไข้ทรพิษได้ตลอดชีวิต และขณะเดียวกันสามารถข้ามไปปกป้องสายพันธุ์ Mpox ได้ด้วยถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของโรคลงได้



          ประเทศไทย เลิกปลูกฝีอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ 2523 ที่จริงแล้วการปลูกฝีเริ่มปลูกน้อยลงตั้งแต่ปีพ.ศ 2517  และเลิกเป็นทางการในปี 2523  แสดงว่าผู้ที่เกิดหลังปี 2523  จะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการปลูกฝี จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อการติด Mpoxได้มากกว่าผู้ที่เคยปลูกฝีแล้ว



          โรคฝีดาษวานร เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีระยะฟักตัวประมาณ 5-14 วัน (ช้ากว่าโควิด 19)  โดยจะเริ่มอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เหมือนไข้ในโรคไวรัสทั่วๆไป หลังจากมีไข้แล้วประมาณ 1-2 วันก็จะมีตุ่มขึ้น โดยที่ตุ่มที่ขึ้น จะมากหรือน้อย แล้วแต่บุคคล หรือภูมิต้านทานของโรค



          ผู้ป่วยจำนวนมากจะมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ รอบก้น ในเด็ก จะขึ้นได้ทั่วไป บริเวณไหนก็ได้ ลักษณะของตุ่มที่ขึ้นจะแตกต่างกับสุกใส คือในฝีดาษวานร ตุ่มเกือบทั้งหมดจะมีระยะเดียวกัน และจะสุกพร้อมกัน ซึ่งต่างกับสุกใส ตุ่มจะมีหลายระยะ บางตุ่มใสแล้ว บางตุ่มเพิ่งขึ้นแดงๆ ตุ่มของฝีดาษจะขึ้นที่มือและเท้า ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า มากกว่าลำตัวซึ่งต่างกับสุกใส  จะขึ้นที่ลำตัวมากกว่า



          เมื่อตุ่มที่ใสในฝีดาษวานร จะบุ๋มตรงกลาง หรือที่เรียกว่า umbilicated lesion ส่วนสุกใสจะมีลักษณะใส ชัดเจน ผู้ที่มีผื่นตามตัวหรือแพ้ง่าย ผื่นจะมีโอกาสขึ้นได้มาก และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้มือไปแกะเกา แล้วมาขยี้ตา ก็อาจจะเกิดรอยโรคขึ้นที่ตา และเยื่อบุนัยน์ตา  ต่อมาก็จะตกสะเก็ด ตุ่มที่เกิดขึ้นรวมทั้งสะเก็ด มีเชื้อไวรัสจำนวนมาก สามารถติดต่อได้ ลักษณะอาการกว่าจะหายหมดใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จนมั่นใจว่าตุ่มทุกตุ่มหายไป และไม่มีสะเก็ดหลงเหลืออยู่ ผู้สัมผัสโรค จะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 21 วัน ถ้าไม่มีอาการก็ไม่น่าจะติดโรค



          โรคฝีดาษวานร Mpox จำเป็นจะต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรหรือไม่



          คำตอบคือ  ไม่จำเป็น  ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น บุคคลที่จะมีโอกาสสัมผัสกับโรคได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกลุ่ม ชายรักชาย และผู้ที่ชอบสนุก มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก รวมทั้งบุคคลที่จะเดินทางไปยังแหล่งระบาดของโรคในแอฟริกา เช่นคองโก



          โดยทั่วไปแล้วการระบาด ของฝีดาษวานรในปัจจุบัน ยังไม่ได้ติดต่อกันง่าย อย่างเช่นโควิด การติดต่อจะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่นเพศสัมพันธ์ นอนเตียงเดียวกัน ในบุคคลธรรมดาทั่วไปจึงมีความเสี่ยงต่ำ สายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะระบาดเข้ามา ถ้าเปรียบเทียบความรุนแรงของโรค ก็ยังน้อยกว่าโควิด 19 ในช่วงระยะแรก ประชากรผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ที่เคยปลูกฝีแล้ว หรือผู้ที่เกิดก่อนปี 2523  ก็จะมีภูมิที่สามารถข้ามไปปกป้องฝีดาษวานรได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังป้องกันได้บ้างและลดความรุนแรงของโรคได้



          วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีราคาแพงมาก ต้องให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน และการฉีดแบบลดขนาดเข้าผิวหนัง ก็จะทำให้ถูกลง แต่จะต้องรวมกลุ่มคนไปฉีด เพราะขวดหนึ่งที่ฉีด 1 คน 0.5 ml เอามาแบ่งฉีดได้ 4 คน หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 5 คน ก็ยังมีราคาแพง



 



Cr:เฟซบุ๊กYong Poovorawan



#ฝีดาษวานร



 

ข่าวทั้งหมด

X