*กมธ.เผยครม.ขอแก้รธน.กว่า117ประเด็น นายกฯเสนอรธน.ต้องแก้ปัญหาในอดีต*

06 มิถุนายน 2558, 14:34น.


หลังการชี้แจงเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ครม.เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญกว่า 117 ประเด็น มีทั้งส่วนที่ปรับแก้ถ้อยคำและส่วนที่ปรับแก้สาระสำคัญของมาตรา นอกจากนี้ยังมีคำเสนอแก้ไขเฉพาะของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งในส่วนนายกฯ ได้เสนอแนวทางในร่างรัฐธรรมนูญใน 5 ประเด็น เช่น เสนอให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่ควรยาวและต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศและต้องสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ โดยยึดสถาบันและประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ปัญหาต่างๆในอดีตให้ได้ ส่วนข้อสังเกตของครม.ก็มีหลายประการทั้งการตัดถ้อยคำให้กระชับ เพิ่มเติมประเด็นใหม่ เสนอปรับบางมาตราไปใส่ในกฎหมายลูก และปรับแก้คำให้ชัดเจนครอบคลุมไปจนถึงการแก้เนื้อหาที่สำคัญ เช่น การเสนอให้ตัดกลุ่มการเมืองทิ้ง หรือไม่ก็ให้กลุ่มการเมืองได้จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง แต่อาจมีข้อจำกัดที่ลดลงกว่าพรรคการเมืองทั่วไป ซึ่งพล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่าหากต้องตัดทิ้งจริงจะส่งผลต่อรัฐธรรมนูญอีกกว่า 20 มาตรา



นอกจากนี้ครม.ยังเสนอให้ตัดองค์กรต่างๆในรัฐธรรมนูญทิ้ง เช่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง เพราะเห็นว่ามีองค์กรที่เพิ่มขึ้นเกินความจำเป็น และยังเสนอให้ลดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ในการเสนอร่างกฎหมายลง แต่เห็นด้วยกับที่มาของส.ว.ที่มาจากการสรรหาและเลือกตั้ง ขณะเดียวกันยังเห็นควรให้ตัดออกในประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีสิทธิร้องขอให้ออกเสียงประชามติได้ เพราะเห็นว่าอาจมีการทำประชามติเกินความจำเป็น



นอกจากนี้ ครม.ยังไม่เห็นด้วยกับการควบรวมสององค์กรคือ ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมาการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยควรแยกเป็นสององค์กรเช่นเดิม และยังเสนอให้ปรับแก้ถ้อยคำในมาตรา62 ที่ว่าด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเห็นว่าคำพูดกำกวมทำให้ยากต่อการปฎิบัติ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ครม.พอใจคือหมวดพระมหากษัตริย์และการกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อแบ่งเบาภาระรัฐบาล



ส่วนในภาค 4 ที่ว่าด้วยการปฎิรูปและการปรองดองที่มี 15 มาตรา ครม.เสนอให้นำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น อย่างไรก็ดีไม่มีการพูดถึงมาตรา 181และมาตรา182 รวมทั้งที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอก ทั้งนี้คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะนำไปประกอบการพิจารณาและในวันจันทร์นี้จะมีการเข้าชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มนายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ในเวลา 09.00น.ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อไป



ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร  

ข่าวทั้งหมด

X