*รองนายกฯไม่ขอตอบต่ออายุนายกฯ2 ปี การแก้รธน.ทำประชามติชัดเจนเร็วๆนี้*

06 มิถุนายน 2558, 13:49น.


หลังจากที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.)และหนึ่งในคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอแนวคิดให้ทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีอยู่ปฎิรูปต่ออีก 2 ปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยหลังการหารือการยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญกับคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เเนวคิดของนายไพบูลย์ ยังไม่ได้มีการคิดไว้ และเห็นว่ายังไม่จำเป็นที่ต้องนำมาไตร่ตรอง ขอให้ถึงเวลาที่จุดหนึ่งก่อนที่อาจจะมีความชัดเจนขึ้นพร้อมชี้ว่าหากจะทำประชามติเพื่อถามเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์และความคุ้มค่ากับเงินที่จะเสียไปในการทำประชามติ และยังระบุว่าหากจะทำจริงก็มีแนวคิดหลายช่องทางที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้การทำประชามติเพียงช่องทางเดียว



ส่วนที่มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอทำประชามติของนายไพบูลย์ ส่วนตัวเพิ่งเห็นจากหนังสือพิมพ์ และคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลในการจะทำเรื่องนี้ ทั้งนี้นาย วิษณุ กล่าวว่า การทำประชามติของนายไพบูลย์ ทำได้ตามหลักประชามติ เพราะเป็นการขอข้อคิดเห็นเชิงหลักการและสามารถถามคำถามนี้รวมกับกรณีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไปด้วยกันได้ในครั้งเดียว แต๋ก้ต้องรอดูว่าจะเหมาะสมหรือไม่ และเชื่อว่าคงไม่ต้องนำแนวคิดนายไพบูลย์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างไรก็ดีเมื่อถามว่าการทำงานของรัฐบาลในขณะนี้ควรมีการยืดเวลาออกไปอีก 2 ปีหรือไม่ นายวิษณุ ได้นิ่งไปชั่วครู่ก่อนที่จะปฎิเสธไม่ขอตอบ เพราะกลัวถูกนำไปโยงกับกรณีนายไพบูลย์ นายวิษณุ  กล่าวว่า ในอดีตเคยมีบทเรียนจากกรณีสมาชิกวุฒิสภาพยายามแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุตัวเอง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องระวังไม่ให้เกิดบทเรียนเช่นเดิมอีก



การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อทำประชามติและยืดเวลาการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่ามีความคืบหน้าไปมาก อีกไม่นานคงจะชัดเจนและเสนอครม.ได้ พร้อมยอมรับว่ามีแนวทางของรูปแบบการทำประชามติและผลรองรับไว้แล้ว การทำประชามติอาจไม่ได้ถามแค่ว่ารับหรือไม่รับ แต่อาจมีการถามคำถามอื่นเช่น การคงอยู่ขององค์กรต่างๆในรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นที่สังคมต้องการคำตอบ ซึ่งอาจมีหลายคำถาม แต่ทุกคำถามต้องสื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย ทั้งนี้จะไม่บัญญัติคำถามที่ตายตัวในรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญจะบัญญัติคร่าวๆเพียงว่าให้ทำประชามติได้ตามที่เห็นสมควร ส่วนผู้ที่จะทำประชามติก็ยืนยันว่าต้องเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยืนยันว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ล่าช้าหรือมีปัญหา



นอกจากนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะยืดเวลาให้คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีเวลาปรับแก้ร่างมากขึ้นจากเดิม 60 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน โดยขณะนี้ยังติดเงื่อนไขบางสิ่งที่ต้องตกลงเรื่องเวลาว่าจะให้ขยายได้กี่วัน คาดว่าจะชัดเจนอีกไม่นานนี้



ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร  

ข่าวทั้งหมด

X