แอมเนสตี้สากล (Amnesty International) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบชิ้นส่วนของระบบนำวิถี (Joint Direct Attack Munitions : JDAM) ที่ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งถูกพบอยู่ในซากปรักหักพังของบ้านเรือนที่ถูกทำลายในย่านเดียร์ อัล บาลาห์ ใจกลางฉนวนกาซา บ่งชี้ว่าอิสราเอลฝ่าฝืนข้อตกลงด้านการทหาร นำอาวุธที่ผลิตในสหรัฐฯ โจมตีพลเรือนในฉนวนกาซา โดยมีการโจมตี 2 ครั้งในเดือนตุลาคม (2566) มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 43 ราย แบ่งเป็นเด็ก 19 ราย ผู้หญิง 14 ราย และผู้ชาย 10 ราย โดยที่ไม่พบสิ่งบ่งชี้ใดๆ ว่ามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธอยู่ในบริเวณใกล้เคียงบ้านที่ถูกโจมตี และไม่มีหลักฐานว่าผู้ที่อยู่ในบ้านเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ ถือได้ว่าเป็นการโจมตีพลเรือนหรือสถานที่ของพลเรือน จึงเรียกร้องให้มีการสอบสวนการโจมตีเหล่านี้ในข้อกล่าวหาเป็นอาชญากรรมสงคราม
นายอักเนส คัลลามาร์ เลขาธิการแอมเนสตี้สากล ย้ำว่า อาวุธที่ผลิตในสหรัฐฯ เอื้อให้เกิดการสังหารหมู่ครอบครัวใหญ่
กองกำลังป้องกันตนเอง หรือ ไอดีเอฟของอิสราเอล โต้แย้งว่า รายงานของแอมเนสตี้สากลมีข้อบกพร่องและไม่มีความเป็นกลาง พร้อมระบุว่า กองทัพมีความเสียใจต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับพลเรือนหรือทรัพย์สินของพลเรือนอันเป็นผลมาจากปฏิบัติการของกองทัพ และจะตรวจสอบปฏิบัติการทั้งหมดเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานต่อไป
นายแมตต์ มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานของแอมเนสตี้แล้ว และกำลังมีการตรวจสอบ โดยมีการชี้แจงอย่างชัดเจนในการหารือกับผู้นำอิสราเอลว่าสหรัฐฯ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการปกป้องพลเรือนในความขัดแย้ง และคาดหวังว่าอิสราเอลจะโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความขัดแย้งด้วยอาวุธ
ส่วนพลจัตวาแพทริก ไรเดอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่ากำลังตรวจสอบรายงานฉบับนี้เช่นกัน โดยจะมีการหารืออย่างใกล้ชิดกับอิสราเอลเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนในการปฏิบัติภารกิจ
อิสราเอลเป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยให้ความช่วยเหลือด้านการทหารเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 10,600 ล้านดอลลาร์ หลังจากกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม (2566)
สำหรับการโจมตีที่แอมเนสตี้สากลอ้างอิงถึง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. ของวันที่ 10 ตุลาคม เป็นบ้านของครอบครัวอัลนัจจาร์ ทำให้สมาชิกครอบครัวเสียชีวิต 21 ราย รวมทั้งเพื่อนบ้านอีก 3 ราย จากการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้คาดว่า ระเบิดลูกนี้น่าจะมีน้ำหนักประมาณ 2,000 ปอนด์ มีหลักฐานสำคัญคือเศษโลหะประทับปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่ผลิตระเบิดลูกนี้
การโจมตีครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงเที่ยงของวันที่ 22 ตุลาคม เป็นการโจมตีบ้าน 3 หลังของพี่น้องตระกูลอาบู มูเอลิก ทำให้สมาชิกเสียชีวิตทั้งหมด 18 ราย รวมถึงเด็ก 12 รายและผู้หญิง 6 ราย รวมถึงเพื่อนบ้านอีก 1 ราย เมื่อพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นคาดว่าระเบิดที่ใช้โจมตีมีน้ำหนักประมาณ 1,000 ปอนด์ และผลิตขึ้นในปี 2018 ตามปีที่ประทับบนแผ่นโลหะ
แอมเนสตี้สากลเตือนว่า สหรัฐฯ อาจต้องรับผิดชอบร่วมกันสำหรับการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงในครั้งนี้ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ และประเทศต่างๆ หยุดการส่งมอบอาวุธให้กับอิสราเอล เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการที่เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
...
#แอมเนสตี้สากล
#อิสราเอล
#ฉนวนกาซา
#สหรัฐอเมริกา
#โจไบเดน