สศค.เผยสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอย แนวโน้มเงินทุนไหลเข้าประเทศ เงินบาทแข็งค่า

10 สิงหาคม 2567, 11:50น.


          นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. ได้วิเคราะห์สถานการณ์โลกล่าสุด ถึงสัญญาณการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยมีสัญญาณจากปัจจัย ดังนี้



1) การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐต่ำ ซึ่งส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานกำลังชะลอตัวลง



2) อัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคม 2567 เพิ่มขึ้น



          ทำให้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลงอย่างมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ในเดือนสิงหาคมอย่างมีนัยสำคัญ



          อย่างไรก็ดี นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากดัชนี PMI ภาคบริการของ Institute for Supply Management (ISM) ออกมาสูงกว่าเดือนก่อนและมากกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Open Market Committee: FOMC) ได้ส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแอ



          นอกจากนี้ U.S. stock index ปิดตลาดในวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากข้อมูลแรงงานที่สมเหตุสมผลช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ได้แก่ ดัชนี Dow Jones อยู่ที่ระดับ 39,446.49 จุด (+1.76%) S&P 500 อยู่ที่ระดับ 5,319.31 จุด (+2.3%) และ Nasdaq 100 อยู่ที่ระดับ 18,413.82 จุด (+2.86%)



ขณะที่ ฝั่งเอเชียในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ณ เวลา 10.00 น ดัชนี Nikkei เปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 35,488 จุด (+1.91%) และ SET เปิดตลาดอยู่ที่ 1,306.35 จุด (+0.78%)



          ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 0.25 ต่อปี ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดการเร่งการขายสินทรัพย์ หรือ Yen Carry Trade ถูกถอนออก (Unwind) จึงเห็นสินทรัพย์เสี่ยงถูกเทขาย ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวน



          สำหรับผลกระทบต่อภาคการเงินของไทย นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะ Risk off และหันไปถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะมีเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศ Emerging countries มากขึ้น ในขณะเดียวกัน การคาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในช่วงเดือนกันยายนและธันวาคม 2567 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยให้มีเงินทุนเข้ามาในประเทศมากยิ่งขึ้นหากมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ไทยมากก็จะเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น



          ในประเด็นภูมิคุ้มกันของประเทศไทย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ล่าสุด ณ เดือน มิ.ย. 67 อยู่ที่ร้อยละ 63.54 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 70 ของ GDP สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ อยู่ที่ร้อยละ 26.39 ซึ่งไม่เกินเพดานที่ก่าหนดไว้ที่ร้อยละ 35 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุดอยู่ที่เพียงร้อยละ 1.19 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ร้อยละ 10



          ขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ณ เดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 2.01 เท่า ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเพื่อรองรับความเสี่ยงสภาพคล่องให้ไม่ต่ำกว่า 1 เท่า สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ เดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 20.2 และ 16.7 ตามลำดับ ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์เงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่อย่างน้อยร้อยละ 11 ของสินทรัพย์เสี่ยง



          ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้เร่งรัดให้เกิดการทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) กับสหภาพยุโรป (EU) ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ทั้งสิ้น 913 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 359,787 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบ กับปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่ามีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40



...



#เศรษฐกิจ



#สศค.



#ค่าเงินบาท

ข่าวทั้งหมด

X