ไทยออกแถลงการณ์ คำตัดสินศาล รธน.แทรกแซงไม่ได้-ย้อนข้อมูลครบ 22 ปี ศาลรธน.ยุบแล้วกว่า100พรรค

08 สิงหาคม 2567, 18:23น.


          นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อ่านแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของไทย กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล จนส่งผลให้หลายประเทศแสดงท่าทีกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย โดยระบุว่า



          คําวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เป็นเอกสิทธิและอํานาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตามหลักการของการแบ่งแยกเขตอํานาจของรัฐธรรมนูญ การตัดสินวินิจฉัยของศาลเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแทรกแซงได้โดยอํานาจอื่นหรือโดยรัฐบาล โดยคําตัดสินดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมายและต้องได้รับความเคารพโดยปวงชนชาวไทย ประเทศไทยจะยังดําเนินแนวทางตามค่านิยมประชาธิปไตยและในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และย้ําความมุ่งมั่นต่อพันธะกรณีและเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ และเสรีภาพในการก่อตั้งพรรคการเมือง



          ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนสําคัญยิ่งต่อขนบประเพณีของไทย และเป็นเสาหลัก พร้อมทั้งฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ที่แยกจากกันสามฝ่าย ที่สร้างความเป็นชาติตลอดห้วงประวัติศาสตร์หลายศตวรรษที่ผ่านมา และประเทศไทยจะดําเนินตามขนบประเพณีและระบอบประชาธิปไตยนี้อย่างมั่นคง ด้วยความภาคภูมิใจและมีศักดิ์ศรี เราเชื่อมั่นว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะเคารพในคําพิพากษาและร่วมกันนําประเทศไปข้างหน้าตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป



          จากข้อมูลโดยไทยพับลิก้า เผยแพร่เมื่อปี 2020 ระบุ 22 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมืองแล้ว 110 พรรค เริ่มแรกในปี2550 ยุบพรรคไทยรักไทย กรณีล้มล้างการปกครอง-จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งปี 2549 จากนั้นตามรธน.ปี 2550 ยุบ 16  พรรคการเมือง ที่มีพฤติกรรมทุจริตการเลือกตั้ง ปี 2560 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ และในปี2567 ยุบพรรคก้าวไกล (อ่านฉบับเต็ม:https://thaipublica.org/2020/02/thailand-election-2562-85)



           ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และตุรกี มีศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น ยังพบว่า หลายประเทศไม่ได้ให้อำนาจ ประชาชนยื่นเรื่องเพื่อยุบพรรคการเมืองได้โดยตรง โดยให้เป็นอำนาจฝ่ายบริหารหรือผู้แทนของรัฐ เช่นประธานาธิบดี สภาผู้แทนราษฎร พนักงานอัยการและคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ดำเนินการ



#ยุพรรคการเมือง



#แทรกแซงไทย



 



 

ข่าวทั้งหมด

X