นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง กล่าวว่า ตามที่ ได้มีนโยบายให้กรมประมง ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ โดยผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางในโครงการแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางนั้น ขณะนี้กรมประมงได้มีการรับสมัครผู้รวบรวมวัตถุดิบหรือแพปลา และตั้งจุดรับซื้อขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้ว รวมจำนวน 75 จุด ทั้งนี้ หลังจากเริ่มดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 7 วัน (นับจากวันที่ 1 – 7 สิงหาคม 2567) พบว่า มีเกษตรกรนำปลาหมอคางดำมาจำหน่ายแล้ว รวม 168,029.50 กิโลกรัม และได้จัดส่งให้กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยหมักไปแล้วถึง 155,409.50 กิโลกรัม
แต่อย่างไรก็ตาม แพปลาผู้เข้าร่วมโครงการฯ บางรายรวมถึงประชาชนยังไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน จึงขอเรียนชี้แจงว่า ผู้รวบรวมวัตถุดิบปลาหมอคางดำ หรือ แพปลา รายใดประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้รวบรวมปลาหมอคางดำ สามารถยื่นใบสมัครตามแบบฟอร์มสมัครผู้รวบรวมและจำหน่ายวัตถุดิบ (ปลาหมอคางดำ)ตามประกาศกรมประมง ฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ สำนักงานประมงจังหวัดท้องที่ที่มีการแพร่ระบาด โดยการรับซื้อวัตถุดิบปลาหมอคางดำจากเกษตรกรและประชาชน แพปลาจะต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งจะได้รับค่ารวบรวมและค่าขนส่งไปยังหน่วยงานของพัฒนาที่ดิน กิโลกรัมละ 5 บาท และเนื่องจากการรับสมัครผู้รวบรวมวัตถุดิบได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 แต่ยังไม่สามารถกระจายจุดรับซื้อให้เข้าถึงกลุ่มเกษตรกรชาวประมงผู้จำหน่ายได้เพียงพอตามปริมาณของปลาหมอคางดำ กรมประมงจึงออกประกาศขยายการรับสมัครผู้รับซื้อวัตถุดิบหรือแพปลาเพิ่มเติมออกไปจากประกาศฉบับเดิมจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2567
ในส่วนของเกษตรกร ชาวประมง ที่เป็นผู้จำหน่าย กรมประมงขอเน้นย้ำว่า ขั้นตอนการนำปลาหมอคางดำมาขายนั้น ไม่มีเงื่อนไขกำหนดในการรับซื้อ สามารถนำมาขาย ณ จุดรับซื้อต่าง ๆ ได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ไม่จำกัดจำนวน ซึ่งหากเกษตรกรผู้จำหน่ายมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ. 1) ที่จับจากบ่อตนเอง ขอให้แจ้งข้อมูล ทบ.1 กับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ กรมประมงขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่ายแจ้งแหล่งน้ำที่จับและเครื่องมือที่จับกับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต่อไป โดยกำหนดเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำเป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2567 และหากสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อแล้วกรมประมง และ กยท. จะร่วมกันพิจารณาการขยายเวลารับซื้ออีกครั้ง
ด้านนายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ 4 แห่ง อำเภอเมือง 1 แห่ง และอำเภอบางบ่อ 1 แห่ง ซึ่งหลังจากเริ่มดำเนินโครงการฯ ทางสำนักงานประมงจังหวัดได้แจ้งผู้สมัครทั้ง 6 แห่งเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบรายละเอียดตามคู่มือของโครงการฯ พร้อมเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน Line เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประมง เจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน เจ้าหน้าที่ กยท. และผู้รวบรวมผลผลิตซึ่งเป็นแพปลา ได้ประสานงานกันโดยตรงในกรณีประสบปัญหาหรือมีข้อติดขัดต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์
Cr:เฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์กรมประมง
#กรมประมง
#ปลาหมอคางดำ