ไม่รอด! ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ สั่งยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี

07 สิงหาคม 2567, 15:35น.


          คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคก้าวไกล จากการหาเสียง-เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม หรือ ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และ ห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง



          ในตอนหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คดียุบพรรคก้าวไกลคือ เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ความรุนแรงของพรรคการเมือง พรรคก้าวไกลมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง



          กฎหมายดังกล่าวใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าพรรคการเมือง นั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกันอย่างเสมอ ภาคเท่าเทียมกัน หากมีพฤติการณ์ร้ายแรงกฎหมายจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการทำลายหลักการพื้นฐานการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมาย บัญญัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้



          แม้นักวิชาการ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศไม่ว่าในระดับใด ต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาทสากลทางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน

 



          ทั้งนี้มติยุบพรรคดังกล่าวแบ่งเป็นมติเอกฉันท์ 9เสียงที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและก็ทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา92(1)



            สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่จะได้รับผลพวงจากคำวินิจฉัยยุบพรรค โดยจะถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็น กก.บห. มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่ภายในกำหนดเป็นเวลา 10 ปีนั้น มีจำนวน 10 คน ประกอบด้วย สส.บัญชีรายชื่อที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน จำนวน  5 คน  คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายชัยธวัช ตุลาธน  น.ส.เบญจา แสงจันทร์ นายสุเทพ อู่อ้น  นายอภิชาต ศิริสุนทร  รวมถึง สส.เขตอีก  1 คน คือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก อดีตพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกขับพ้นพรรคและปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม



          ส่วน กก.บห. ที่ไม่ได้เป็น สส.ในปัจจุบัน  ประกอบด้วย น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค  นายสมชาย ฝั่งชลจิตร อดีตสส.บัญชีรายชื่อ นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ และนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีตสส.บัญชีรายชื่อ



          เมื่อถูกยุบพรรค ทำให้จำนวน สส.ของพรรคก้าวไกลจากที่มีเสียงในสภาปัจจุบันรวม 148 คน จะเหลือ 143 คน ต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน รวมถึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมสส.เขต 1 พิษณุโลก แทนนายปดิพัทธ์



          สำหรับคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาในการพิจารณากว่า 5 เดือน นับตั้งแต่มีคำสั่งรับคำร้องจากกกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 3 เม.ย.67 โดยศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และมีคำสั่งขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามที่พรรคก้าวไกลขอจำนวน 3 ครั้ง รวมระยะเวลาจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 60 วัน



 



#ยุบพรรคก้าวไกล 



#ศาลรัฐธรรมนูญ 

ข่าวทั้งหมด

X