หลังจากที่เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.67) ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ญี่ปุ่น ร่วงลงประมาณร้อยละ 12 หรือ ประมาณ 4,451 จุด จากความกังวลเรื่องตัวเลขแรงงานสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย เป็นการร่วงลงรายวันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 1987 การร่วงลงดังกล่าวกระตุ้นให้ตลาดทั่วโลกตกต่ำ ตลาดหุ้นหลักในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ทั้งหมด ร่วงลงอย่างมาก
การซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (6 ส.ค.67) ดัชนีนิกเกอิ และ ดัชนีโทปิ ของญี่ปุ่น ต่างปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 9 ส่วนหุ้นคอสปิ ของเกาหลีใต้ ฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 3 ขณะที่หุ้นไต้หวัน ฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 4
นายนีล นิวแมน หัวหน้านักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์จากบริษัทอัสทริส แอดไวเซอรี(Astris Advisory) ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า เรื่องนี้สะท้อนว่าพื้นฐานของหุ้นต่างๆของตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงเข้มแข็ง และเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังแข็งแรง ไม่มีหลักฐานว่านักลงทุนเทขายหุ้นญี่ปุ่นอีกต่อไป ขณะที่ บริษัทผู้ผลิตซอสถั่วเหลือง Kikkoman Corporation เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุดในวันนี้ โดยหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายสูงขึ้นประมาณร้อยละ 21 หลังจากที่ร่วงลงเกือบร้อยละ 17 ในวันก่อนหน้า
นายสตีเฟน อินเนส นักวิเคราะห์จากบริษัทเอสพีไอ แอสเซจ แมเนจเมนท์(SPI Asset Management) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น คงอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำมาหลายสิบปี ทำให้นักลงทุนหลายคน กู้ยืมในราคาต้นทุนต่ำ ก่อนนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลอื่น เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า การที่ธนาคารญี่ปุ่น เริ่มส่งสัญญาณเปลี่ยนนโยบายการเงินเป็นอีกเหตุผลหนึ่งทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้น
โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของ carry trade หนึ่งในกลยุทธ์การเทรดสกุลเงิน โดยอาศัยการยืมสินทรัพย์หนึ่ง เพื่อไปซื้ออีกสินทรัพย์หนึ่ง และทำกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยแทน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจึงรับรู้ผลกระทบรุนแรง ทำให้เกิดความผันผวนและความไม่นอนสำหรับเทรดเดอร์ในตลาดเงินและนักลงทุนในตลาดหุ้น
เมื่อวานนี้(4 ส.ค.67) เงินเยนของญี่ปุ่นร่วงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดตลาดที่ 143 เยนต่อดอลลาร์ ต่อมาในวันนี้ (6 ส.ค.67) เงินเยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 145.76 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ และประกาศแผนซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะที่ นักลงทุนส่วนใหญ่ คาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีกในปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
นายกรัฐมนตรีฟูมิโอ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การพิจารณามาตรการต่างๆที่จะทำให้ตลาดมีเสถียรภาพเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมแสดงความเห็นในทำนองเดียวกับนักวิเคราะห์เรื่องแนวโน้มเชิงบวกสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากหลายปัจจัย รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อในรอบกว่า 2 ปีในเดือนมิ.ย.67
#หุ้นญี่ปุ่น