กรมชลประทาน รายงานว่า ฝนตกชุกภาคเหนือ ส่งผลน้ำเหนือเพิ่มขึ้น ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. (4 ส.ค. 67) แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,041 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องทยอยปรับการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม 10 ลบ.ม./ชม. (โดยประมาณ) ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เวลา 21.00 น. และคงไว้ที่ 750 ลบ.ม./วินาที จะทำให้ระดับท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ
-คลองโผงเผง จ.อ่างทอง
-คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
-ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)
ก่อนหน้านี้ จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าว กรมชลประทาน ระบายน้ำฝนในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ ออกสู่ทะเล และพบการระบาดของสัตว์น้ำ เช่น ปลาหมอคางดำ ปลาหมอสี และอื่นๆ บริเวณทะเลชายฝั่ง ใกล้ปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง ยืนยันว่า การระบายน้ำดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังและอุทกภัย ไม่ใช่การระบายน้ำเพื่อปล่อยปลาหมอคางดำออกสู่ทะเล
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีฝนตกหนักและต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร กรมชลประทาน จึงต้องระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ในช่วงน้ำทะเลลง) และสูบน้ำผ่านสถานีสูบน้ำ (ในช่วงน้ำทะเลขึ้น) ออกสู่แม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทย การระบายน้ำและการสูบน้ำดังกล่าว เป็นภารกิจหลักที่กรมชลประทานต้องดำเนินการเป็นประจำในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว และจะยังคงระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำในคลองไว้รองรับปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือที่จะไหลหลากลงมาในระยะต่อไป เป็นการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้
#เขื่อนเจ้าพระยา
#เพิ่มการระบายน้ำ
Cr.ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมชลประทาน