*นายกฯเสนอปรับลดร่างรธน.และวาระการปฎิรูป เตรียมแจกคู่มือกม.ให้ปชช.*

04 มิถุนายน 2558, 20:30น.


การตอบข้อซักถามต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในการแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปีในงามสัมมนาของแม่น้ำสามสาย



พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวตอบข้อซักถามของสมาชิกในหลายข้อเช่น การจัดเก็บภาษีว่าจะต้องจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้เก่า ทั้งนี้ยอมรับว่าปัญหาต่างๆที่พบมีมากและทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหทด ดังนั้นจะต้องแก้ปัญหาไปทีละขั้นตอน



ส่วนแนวทางสลากกินแบ่งรัฐบาล ย้ำว่า วันที่ 16 มิ.ย.นี้ จะต้องขายให้ได้ในราคา 80 บาททั้งหมด และจะมีการลงโทษตามกฎหมายหากตรวจพบการขายเกินราคา พร้อมตอบถึงคำถามการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยว่า หากมีผู้ว่าฯจังหวัดใดประพฤติมิชอบหรือไม่ปฎิบัติตามนโยบายผู้ว่าฯก็อาจจะถูกสั่งย้ายตามความเหมาะสมทันที 



พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง การออกกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เสนอไปยังสนช.กว่า 109 ฉบับด้วยว่า ทุกฉบับจะต้องตอบโจทย์ในการช่วยประชาชนได้ และประชาชนทุกวัยต้องรู้กฎหมายโดยตัวเองมีคำสั่งให้จัดทำคู่มือกฎหมายเบื้องต้นเพื่อเตรียมแจกให้ประชาชน เพื่อป้องกันขอแก้ตัวที่ว่าไม่รู้กฎหมายด้วย  นอกจากนี้ นายกฯยังกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่าไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดเยอะ ควรปรับให้น้อยลง ส่วนการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ตัวเองไม่สามารถบอกได้ว่าควรทำหรือไม่ เพราะจะต้องฟังความเห็นประชาชนเป็นสำคัญ ตัวเองคงไม่มีอำนาจตัดสิน



ส่วนการปฎิรูปของประเทศขณะนี้ก็แนะนำให้ลดวาระการปฎิรูปที่มีกว่า 36 วาระลงและชี้ว่าควรมีมาตรการปฎิรูปในการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนมากขึ้นด้วยพร้อมชี้ว่าไม่ได้ทะเลาะกับสื่อแต่เป็นเพื่อนกันแค่บางครั้งอาจมีเสียงดังบ้าง ทั้งนี้ ยังแนะนำให้หาวิธีการปฎิรูปสื่อที่สามารถควบคุมให้มีประสิทธิภาพด้วยและยังได้กล่าวขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฎมุ่งเน้นการสอนวิชาภาษาที่สามให้เยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  สุดท้ายนายกฯได้ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับรัฐบาลและสร้างความไว้ใจระหว่างกันเพื่อพัฒนาประเทศตามโรดแม็พและย้ำว่าทุกอย่างที่มีการสงสัยอยู่ขอให้ยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นหลักเท่านั้น



ด้านพล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวแถลงผลงานว่า สามารถปราบปรามยาเสพติดได้มากขึ้น ส่วนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่มีนายกฯเป็นประธาน เพื่อหามาตรการจัดการการทุจริตในทุกระดับ นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องที่ต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานรัฐ เช่น โครงการข้อตกลงคุณธรรมการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใสในหน่วยงานรัฐ  รวมทั้งจะมีการแสดงบัญชีรายรับ-รายจ่ายในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐเพื่อเปิดเผยความโปร่งใสด้วย



 



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร



 

ข่าวทั้งหมด

X