สกศ.วิจัยแนวทางผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในอนาคต

01 สิงหาคม 2567, 12:42น.


          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ รายงานการวิจัย เรื่องการศึกษาแนวทางการผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ การสำรวจด้านอุปสงค์และอุปทานแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) พบว่า ความต้องการแรงงาน (Demand Side) และการผลิตกำลังคน (Supply Side) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ล้วนมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้



          พบว่าความต้องการแรงงานในระดับอาชีวศึกษา เพิ่มขึ้นจากจำนวน 274,250 คน ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 735,373 คน ในปี พ.ศ. 2567 โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานในระดับอาชีวศึกษาจำนวนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ตามลำดับ



          ความต้องการแรงงานในระดับอุดมศึกษา เพิ่มขึ้นจากจำนวน 359,040 คน ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 959,744 คน ในปี พ.ศ. 2567 โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานในระดับอุดมศึกษามากที่สุด คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ตามลำดับ



          โดยความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ตลอดจนความก้าวหน้าขั้นสูงของระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์รังสรรค์ (Generative Artificial Intelligence) ประเทศไทยได้มีการหันมาให้ความสำคัญกับการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-Curve) ใน 2 รูปแบบ ได้แก่  5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)



           5อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม(Robotics)  อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)  อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)  อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)



          อีกทั้งยังได้มีการให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับกับมิติของประเภทงาน (Jobs) และการเติบโตของงานในทุกด้าน  ผ่านการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการช่วยปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่าง ๆ (Digitalization) และความยั่งยืน (Sustainability)ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของกำลังคนยุคใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป



           Download หนังสือฉบับเต็ม รายงานการวิจัย เรื่อง การศึกษาแนวทางการผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ https://backoffice.onec.go.th/uploads/Book/2072-file.pdf



          สอบถามเพิ่มเติม0-2668-7110 ต่อ สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา



Cr:เฟซบุ๊กสภาการศึกษา



 



#สภาการศึกษา



#ตลาดแรงงาน



#อาชีวศึกษา



 

ข่าวทั้งหมด

X