กรมทรัพยากรธรณี ยังไม่ชี้ชัดสาเหตุ แผ่นดินไหว 2 ครั้งซ้อนที่บุรีรัมย์ จุดศูนย์กลางอยู่นอกรอยเลื่อนมีพลัง

25 กรกฎาคม 2567, 11:30น.


         หลังจากที่เมื่อวานนี้ (24 ก.ค.67) เกิดแผ่นดินไหว สองครั้งที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ 


-ครั้งแรก เวลา 14.54 น. ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ ขนาด 2.9 แมกนิจูด ลึก 1 กิโลเมตร


-ครั้งที่ 2  เวลา 18.01 น. ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ ขนาด 3.0 แมกนิจูด ลึก 1 กิโลเมตร  




          มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานว่า นักวิชาการเห็นตรงกันว่าไม่มีรอยเลื่อน ยังไม่ชัดเจนเรื่องสาเหตุ คาดว่า โพรงใต้ดินยุบตัว  ด้านชาวบ้านในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ เริ่มวิตกกังวลหลังเกิดแผ่นดินไหว 2 ครั้ง จุดศูนย์กลางการไหวห่างกันราว 2 กิโลเมตร แม้ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ชาวบ้านบางรายในพื้นที่เริ่มสัมผัสถึงความผิดปกติ หวั่นเกิดอาฟเตอร์ช็อก ดังนั้น อยากให้ภาครัฐตรวจสอบให้ชัดเจนเพื่อคลายความกังวลให้กับชาวบ้าน ขณะอำเภอ กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ติดตามสถานการณ์และเตือนชาวบ้านหลีกเลี่ยงอยู่ในจุดเสี่ยง


           เพจ SPACEBAR สอบถาม ดร.วีระชาติ วิเวกวิน ผู้อำนวยการส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า จุดศูนย์กลางของแรงสั่นสะเทือนอยู่นอก รอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งตามข้อมูลพบว่า มักจะพบรอยเลื่อนมีพลังอยู่ในภาคเหนือ ตะวันตก และภาคใต้ เป็นหลัก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เคยมีการค้นพบดังนั้นจึงหมายความว่า ‘จะต้องไม่เกิดแผ่นดินไหว’ ในพื้นที่ดังกล่าว หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีพิเศษ เบื้องต้น กรมทรัพยากรธรณี แปลความหมายจากสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ‘Blackguard Earthquake’ หรือ 'ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน'  อาจเกิดการปลดปล่อยพลังงานผ่านรอยแตกทั่วไป เนื่องจาก ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ตั้งโดดๆ แต่ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ซึ่งด้านซ้ายติดกับแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (ชนกันอยู่) โดยแรงชนเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดพลังใต้พื้นโลก และถูกปลดปล่อยออกมา ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่ไม่ควรจะเกิด


          กรณีที่มีบางหน่วยงานตั้งข้อสังเกต ว่าอาจเกิดจากการยุบตัวของโพรงเกลือใต้ดิน ดร.วีระชาติ มองว่า เมื่อศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ไม่มีชั้นหินที่เป็นแหล่งเกลือ แต่เป็นหมวดหินโคกกรวด (หินดินดาน หินทราย หินโคลนสีน้ำตาลแดง) หมายความว่า ไม่น่าจะมีโพรงเกลือที่เกิดทรุดตัวจนแผ่นดินไหวได้ และที่สำคัญไม่เคยมีรายงานว่า ชาวบ้านในบริเวณ อ.ลำปลายมาศ ประกอบอาชีพทำนาเกลือ หากเกิดจากการทรุดตัวจริง บริเวณพื้นผิวจะต้องเกิดรอยแตกที่มีขนาดใหญ่ และการสั่นสะเทือนจะต้องมีแรงมากกว่า 2.9 แมกนิจูดด้วย ดังนั้นประชาชน ‘ไม่ต้องตื่นตระหนก’ แต่ ‘ควรตระหนัก’ ว่าแผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้ ในพื้นที่ที่อยู่นอกสายตาของกรมทรัพยากรธรณี (ซึ่งมองว่าพื้นที่ภาคอีสานคือจุดปลอดภัย) แต่ต้องเรียนรู้ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องทำอย่างไร 


         กรณีล่าสุด เกิดในระดับ 2.9 แมกนิจูด ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กมาก สิ่งก่อสร้างต่างๆ ไม่ได้มีแรงสั่นสะเทือนจนกระทบกับโครงสร้าง มากกว่าการสั่นสะเทือนของสะพาน ขณะที่รถบรรทุกวิ่งผ่านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนจะต้องระมัดระวังอย่างไร กรมทรัพยากรธรณีจะร่วมกันสรุปมาตรการออกมาอีกที 


 


#แผ่นดินไหว


#บุรีรัมย์ 


Cr:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา,มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ,กรมทรัพยากรธรณี,เพจ SPACEBAR


 


 
ข่าวทั้งหมด

X