การเสนอทางออกของพลังงานไทยของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทยหรือ คปพ. นาวาอากาศตรี ประสงค์ คณะกรรมการคปพ.เปิดเผยว่า คปพ.ได้จัดทำร่างกฎหมายพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม ฉบับใหม่ที่คปพ.ได้เป็นผู้เขียนและเสนอร่างขึ้นมา โดยจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้พิจารณารับร่างกฎหมายนี้หลังจากที่พบว่าการร่วมประชุมกับภาครัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้กฎหมายที่จัดทำขึ้นเชื่อมั่นว่าจะให้ประโยชน์กับประเทศและประชาชนมากกว่าเดิมรวมทั้งทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางพลังงานมากขึ้น
ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมนี้จะมีการกำหนดทางเลือกของการขุดเจาะปิโตรเลียมใหม่ให้มีสามแนวทาง ประกอบด้วย การให้สัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิตและการจ้างผลิตโดยให้ผู้ผลิตเป็นผู้รับความเสี่ยงแทนทั้งหมด ซี่งในแต่ละแนวทางของการขุดเจาะ ได้มีการกำหนดแนวทางไว้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ และได้ย้ำฝากให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นำสิ่งที่คปพ.เสนอไปพิจารณาทันที
ด้านนายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ คณะกรรมการคปพ.เปิดเผยว่า แม้ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะทำหนังสือแจ้งมานายกฯ ว่าเห็นชอบในหลักการที่มีการหารือระหว่างกลุ่มคปพ.และรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่คปพ.พบว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือกพช. ได้วางแนวทางดำเนินงานในการพิจารณาแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่รัฐบาลไทยให้ความเห็นชอบแก่ผู้รับสัมปทานหลายบริษัทในแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่สัมปทานครั้งสุดท้ายจะสิ้นสุดในปี 2565 และ 2566 ซึ่งพบว่าการต่อสัญญาครั้งสุดท้ายในปี 2550 ไม่ได้กำหนดให้รัฐบาลสามารถเข้าพื้นที่เพื่อถ่ายโอนปิโตรเลียมได้ ทำให้ก่อนสิ้นสุดสัญญาปี 2565 และ 2566 รัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ ซึ่งคปพ.เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อพลังงานไทยในอนาคต เพราะแหล่งบงกชและเอราวัณมีกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติได้กว่า 2,110ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหรือกว่าร้อยละ50 ของการผลิตทั้วประเทศ ซึ่งหากไม่มีมาตรการที่แก้ไขได้ เชื่อว่า รัฐบาลจะต้องเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อหาแหล่งพลังงานทดแทนไม่ให้ขาดช่วง และไม่ให้เกิดวิกฤตพลังงานในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐไม่มีสิทธิต่อรองกับเอกชน
นอกจากนี้ ยังพบว่าครม.เห็นชอบภาษีปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซี่งพบว่าขาดมีส่วนร่วมของประชาชนและทำอย่างเร่งรีบ คปพ.จึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ขาดแคลนพลังงานในหลายข้อเสนอ เช่น ให้หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามม. 44 สั่งเปิดประมูลแข่งขันแปลงปิโตรเลียม 5 แปลงที่มีศักยภาพสูงโดยจัดทำในระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อเพิ่มหลักประกันการมีพลังงานทดแทน และให้มีอายุสัญญา 20 ปี ซึ่งคาดว่าใน 5 แปลงมีน้ำมันกว่า179ล้านบาร์เรล และมีก๊าซธรรมชาติกว่า 1.26ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต จากนั้นให้จัดประมูลในพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชต่อไป นอกจากนี้คปพ.เสนอให้ปรับปรุงสัญญาสัมปทานเดิมและให้อุปกรณ์การทำปืโตรเลียมในระบบสัมปทานตกเป็นของรัฐ และให้รัฐต้องมีสิทธิเข้าไปจัดการพื้นที่ในสัมปทานปิโตรเลียมก่อนหมดสัญญา และต้องแก้กฎหมายปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 ให้มีความเป็นธรรมและโปร่งใส โดยต้องนำร่างพระราชบัญญติที่คปพ.เสนอไปดำเนินการซึ่งในร่างนี้จะมีการจัดตั้งบริษัท ปิโตรเลียมแห่งชาติ รวมทั้งจะมีระบบเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปิโตรเลียมด้วยทั้งนี้กลุ่มคปพ.จะไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้เวลา 10.00น เพื่อยื่นข้อเสนอเรียกร้องทั้งหมดต่อพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร