สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (TEPCO) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิได้ดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ซึ่งผ่านการบำบัดแล้วราว 7,800 ตัน ลงสู่ทะเลครั้งที่ 7 ในวันนี้(16 ก.ค.) หลังเริ่มปล่อยน้ำเสียสู่ทะเลในรอบนี้มาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. จากการตรวจตัวอย่างน้ำที่เก็บรวบรวมมาจากท้องทะเล ซึ่งอยู่ใกล้กัน ผู้เชี่ยวชาญของ TEPCO ไม่พบระดับความเข้มข้นของทริเทียม(tritium)มากผิดปกติ โดยความเข้มข้นของทริเทียมจากตัวอย่างน้ำทะเลอยู่ที่ 8 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ต่ำกว่ามาตรฐานของบริษัทคือ 700 เบ็กเคอเรลต่อลิตร และต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกคือ 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร
นับเป็นการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ซึ่งผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลครั้งที่ 7 รวมปริมาณน้ำปนเปื้อนที่ถูกปล่อยลงทะเลจำนวน 54,600 ตัน นับแต่เริ่มโครงการนี้ครั้งแรกในเดือนส.ค.2566 และเป็นการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีซึ่งผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลครั้งที่ 3 ในปีนี้(2567) ซึ่งก่อนปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล มีจะการกรองน้ำเพื่อขจัดสารปนเปื้อนกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นทริเทียม
ทั้งนี้ การปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญก่อนปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ในอนาคต หลังเตาปฏิกรณ์ 3 ตัวหลอมละลาย เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 และคลื่นสึนามิพัดถล่มในปี 2554
#โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น
#ปล่อยน้ำเสียสู่ทะเล