การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UN Trade and Developmen : UNTAD) หรือ อังค์ถัด เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2024 (The Digital Economy Report 2024) วิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกและมอบโอกาสให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศกำลังพัฒนาจะพบกับความไม่สมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับวิกฤตในระบบนิเวศ
ความต้องการแร่ธาตุและโลหะที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มีโอกาสเพิ่มความหลากหลายและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ แต่ในเวลาเดียวกันเศรษฐกิจดิจิทัลต้องการใช้พลังงานในระดับสูง อังค์ถัดจึงแนะนำให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยั่งยืน เน้นไปที่การผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบ
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการดำรงชีวิต แต่การเปลี่ยนผ่านอย่างไร้การควบคุมทำให้มีความเสี่ยงที่จะทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง และส่งผลให้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น เตือนว่า การพึ่งพาเครื่องมือดิจิทัล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การสูญเสียวัตถุดิบ, การใช้น้ำและพลังงาน, การปล่อยมลพิษทางอากาศ และขยะ
นางรีเบกา กรีนสแปน เลขาธิการอังค์ถัด กล่าวเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เป็นผู้นำด้านการผลิตข้อมูลที่ได้มาตรฐาน ตามที่มีรายงานว่า กูเกิลรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 ในช่วง 5 ปีจนถึงปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่สนับสนุนการดำเนินงานของเอไอ ส่วนไมโครซอฟต์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับปี 2563 แม้บริษัททั้งสองแห่งเคยให้คำมั่น จะดำเนินนโยบายความกลางทางคาร์บอน ให้สำเร็จภายในสิ้นทศวรรษนี้
ในรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2567 อังค์ถัดได้ยกตัวอย่างผลกระทบของเศรษฐกิจดิจิทัลต่อสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 0.69 ถึง 1.6 กิกะตันในปี 2563 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.5-3.2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และใกล้เคียงกับการขนส่งทางอากาศหรือทางเรือ ด้านการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาด 2 กิโลกรัม ต้องใช้วัตถุดิบประมาณ 800 กิโลกรัม โดยความต้องการแร่ธาตุสำคัญ เช่น กราไฟต์, ลิเทียม และโคบอลต์อาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 500 ภายในปี 2593
ขณะเดียวกัน มีการใช้ไฟฟ้า 460 เทระวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2569
การใช้พลังงานทั่วโลกในการขุดบิตคอยน์ เพิ่มขึ้นประมาณ 34 เท่า ระหว่างปี 2558-2566 ที่ประมาณ 121 เทระวัตต์-ชั่วโมง
..
#อังค์ถัด
#เศรษฐกิจดิจิทัล