อย่าเอามาปล่อย! ห้วยขาแข้งยังเฝ้าระวัง ปล่อยนกยูงอินเดีย หวั่นปนเปื้อน ทำลายนกยูงไทย

04 กรกฎาคม 2567, 20:11น.


          การเฝ้าระวังหลังพบนกยูงอินเดีย ที่มีลักษณะสีขาว หงอนเป็นรูปพัด  นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต(กะ-นิด-ทะ-ชาด)  หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยกับ จส. 100 ว่า  หลังได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.พบนกยูงอินเดีย และลูกผสม มาหากินปะปนกับนกยูงไทย  ที่บริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก จนท.จึงปิดบริเวณหอดูสัตว์ชั่วคราว เพื่อวางแผนจับนกยูง เพราะว่า นกยูงอินเดียเปรียวมาก เลยต้องกันอาณาเขต ให้อยู่บริเวณนั้น ให้คลายความกังวล 



          ตั้งแต่วันนั้นมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการ สังเกตเหตุการณ์และออกตรวจติดตาม ได้ใช้เหยื่อล่อดึงดูดสร้างความคุ้นเคยลดความระแวงและป้องกันนกยูงเป้าหมายไม่ให้ขยับหรือหนีหายไปไกลจากจุดที่พบเป็นการต่อเนื่อง แต่ไม่พบนกยูงอินเดียตัวสีขาว และไม่พบนกยูงอินเดียตัวสีน้ำตาลอมเขียว ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2567และไม่พบนกยูงอินเดียสีขาวตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567



          ส่วนนกยูงไทย หากินตามปกติบางตัว เข้ามาหากินใกล้เคียงบริเวณที่ตั้งกรงดักและบางตัวเข้าไปหากินอาหารที่โรยไว้ในกรงดัก





          ต่อมา ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ได้เดินสำรวจบริเวณใกล้เคียงเพื่อค้นหานกยูงทั้ง 2 ตัวต่อไป ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่พบเศษขนของนกยูงอินเดียสีขาวพร้อมทั้งมีรอยเลือดแต่ไม่พบซากนกยูงตัวดังกล่าว คาดว่า อาจถูกทำร้ายหรือกินโดยสัตว์ผู้ล่าไม่ทราบชนิด เนื่องจากขณะที่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นนกยูงอินเดียตัวสีขาวนั้นมีลักษณะไม่ค่อยระวังตัว เท่านกยูงไทยจึงอาจตกเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าได้ง่าย



          สาเหตุที่ต้องนำนกยูงอินเดียและนกยูงพันธุ์ผสมออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าจะมีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมทำให้นกยูงสายพันธุ์ไทยแท้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพันธุกรรมอาจเกิดผลกระทบในระยะยาว เพราะอาจจะทำให้นกยูงพันธุกรรมของไทยแท้ อ่อนแอ แล้วหมดไป กลายเป็นพันธุ์ใหม่มาแทน  



          ปัจจุบัน มีนกยูงทั้งหมด 3 สายพันธุ์  คือนกยูงคองโก อยู่ประเทศคองโก  นกยูงอินเดีย อยู่ที่อินเดีย   นกยูงไทย อยู่ในไทย พม่า และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทั้ง 3 สายพันธุ์ถึงเป็นนกยูงเหมือนกัน แต่เป็นคนละสปีชีส์ และไม่ใช้สัตว์ประจำถิ่น 



          ส่วนนกยูงอินเดีย ไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครองเอามาเลี้ยงได้ ส่วนนกยูงไทยมีการกระจายและมากที่สุด แถวห้วยขาแข้ง แม่วงก์  เขื่อนศรีนครินทร์  พะเยา 



          ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป จะออกประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนกยูงอินเดีย และสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ ให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบเพื่อขอความร่วมมือถ้ามีการเลี้ยงนกยูงอินเดียหรือสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ ขอให้เลี้ยงด้วยระบบปิด ไม่ควรนำมาปล่อยหรือนำเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเนื่องจากขัดต่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2562มีโทษจำคุก 1 ปีหรือปรับ 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งออกลาดตระเวณในพื้นที่



          หากผู้ใดเข้ามาศึกษาธรรมชาติในพื้นที่แล้ว พบเห้นสัตว์ป่าต่างถิ่นในพื้นที่ ขอได้โปรดแจ้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง



 



#นกยูงไทย



#นกยูงอินเดีย



CR: Bird Conservation Society of Thailand (BCST)



ข้อมูล: FB เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง https://www.facebook.com/share/p/G7szxwVTrAtipwco/



 

ข่าวทั้งหมด

X