นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงถึงประเด็นการเข้าใจผิดทั้งด้านเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ในงาน Meet the press ผู้ว่าการ ธปท. พบสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทย แม้จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ จากแบบจำลองของ ธปท.มองว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ในช่วงปี 2566 -2567 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3 ลดลงจากช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ในระดับร้อยละ 3.0-3.5 โดยมองว่าเป็นการฟื้นแต่ไม่มาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างและอาชีพอิสระ ที่รายได้สวนทางกับรายจ่ายและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากต้องการจะดัน GDP ให้โตได้ ร้อยละ3 อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพัฒนาด้านแรงงานและศักยภาพของแรงงานให้มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน
ส่วนด้านอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงขณะนี้ ยืนยันว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้วกับเศรษฐกิจ จากการพิจารณาแนวโน้มในระยะข้างหน้า หากในอนาคตมีปัจจัยที่เข้ามามีนัยสำคัญก็พร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมชี้แจงว่าหากจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน มาตรการทางการเงิน หนี้ครัวเรือน
ปัจจัยดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ต้องตอบโจทย์หลายโจทย์พร้อมกัน และต้องหาจุดสมดุลในหลายฝ่าย ทั้งลูกหนี้ ผู้ฝากเงิน ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ซึ่งไม่สามารถมองในมุมใดมุมหนึ่งได้ จึงต้องหาเครื่องมืออื่นมาช่วยตอบโจทย์และลดผลข้างเคียง ด้วยมาตรการอื่นๆที่ตรงจุดกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า อาทิ มาตรการด้าน LTV เสถียรภาพทางการเงิน มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน ที่ออก soft loan หรือสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.38 แสนล้านบาท จากวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มฟ้า-ส้ม 16 ล้านบัญชี คลินิกแก้หนี้ โดยเฉพาะมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Respossible lending) ที้เน้นปรับโครงสร้างหนี้และแก้หนี้ทั้งระบบ พร้อมย้ำว่า ธปท. ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยภายใต้มาตรการ Respossible lending ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ต้นปี 2567
ข้อมูลจนถึง 30 เม.ย.2567 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวม 8.2 แสนบัญชี หรือ 2.3 แสนล้านบาท ขณะที่มีการติดตามตรวจสอบหลังมีการปรับเกณฑ์การโฆษณาสินเชื่อ พบว่ามีความถูกต้องชัดเจน ครบถ้วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 3% ในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้นเป็น 63% ในเดือน มิ.ย.67
สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 ก็ถือว่าน่าพอใจ ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าน่าจะขยับได้ร้อยละ 2 ซึ่งหากเข้าสู่ไตรมาส 3 ปรับตัวขึ้นได้ร้อยละ 3 และไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ร้อยละ4 ทำให้ทั้งปี 67 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 3 ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ราวร้อยละ 3
#แบงก์ชาติ
#จีดีพีไทย