ข้อมูลของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา พบสถาบันการเงินของไทยถูกเชื่อมโยงแทนที่สิงคโปร์ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่ากระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบเนื้อหาของรายงานดังกล่าวแล้ว โดยรายงานฯ ได้มีการระบุชื่อของหลายประเทศ ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคที่มีธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ สถาบันทางการเงินของไทยมีแนวทางการดำเนินการเช่นเดียวกับศูนย์กลางทางการเงินอื่น ๆ จึงต้องมีกระบวนการในการสืบหารายละเอียดและข้อเท็จจริงก่อนจะดำเนินการใด ๆ
ทั้งนี้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องเชิงนโยบายซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการมีมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งไทยมีท่าทีในการไม่สนับสนุนการกระทำใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
ก่อนหน้านี้ มีรายงานจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยรายงานชื่อว่า Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพึ่งพาธนาคารและรัฐบาลหลายประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่เอื้อให้เกิดการสูญเสียชีวิตจากสงครามและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ รวมถึงสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา จัดทำโดย ทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา
รายงานฉบับนี้สำรวจความเชื่อมโยงในการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมา ผ่านสถาบันการเงิน 16 แห่งใน 7 ประเทศ ได้แก่ ในประเทศไทย 5 แห่ง, สิงคโปร์ 3 แห่ง, มาเลเซีย 2 แห่ง, รัสเซีย 2 แห่ง, อินเดีย 2 แห่ง, จีนและเกาหลีใต้ ที่ละ 1 แห่ง รายงานดังกล่าว ชี้ว่า ธนาคารหลายแห่งในไทยขึ้นแท่นแทนที่สิงคโปร์ กลายเป็นช่องทางหลักของรัฐบาลทหารเมียนมาในการนำเข้าอาวุธ ซึ่งส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน
ข้อมูลเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวช่วง 1 ปี ก่อนเดือน มี.ค.2023 กับ 1 ปีให้หลัง พบว่า ยอดส่งออกอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากบริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ ลดลงเกือบร้อยละ 90 จาก 81 บริษัท ลดลงเหลือเพียง 6 บริษัท ขณะที่ ธนาคารจากสิงคโปร์ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ลดลงถึงร้อยละ 70
ในทางกลับกัน การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ จากบริษัทจดทะเบียนในไทยไปเมียนมา เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากยอดส่งออก 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นร่วม 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ธนาคารในไทยยังเอื้อให้เกิดการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เป็นเท่าตัวเช่นกัน จากยอด 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นมากกว่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในไทยพบว่ามีธนาคาร 5 แห่งที่ถูกใช้เป็นช่องทางทำธุรกรรมทางการเงิน ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับบริษัทส่งออกอาวุธที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนี้มีธนาคารแห่งหนึ่งที่มียอดการทำธุรกรรมสูงกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้รายงานฉบับนี้ยกตัวอย่างรัฐบาลสิงคโปร์ว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายที่ชัดเจนเพื่อต่อต้านการส่งอาวุธให้เมียนมา ขณะที่รายงานชิ้นนี้ ยังระบุว่า ภาพรวมของการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาในรอบปีที่ผ่านมา ลดลงถึง 1 ใน 3 จากมูลค่า 377 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบเดือน เม.ย.2022 ถึงเดือน มี.ค.2023 ลดลงเหลือ 253 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
#เมียนมา
#สถาบันการเงินไทย
แฟ้มภาพ