*คมนาคมเสนอครม.สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่2/กสทช.พร้อมปล่อยกู้โครงการบริหารจัดการน้ำ/ธ.ก.ส.ปล่อยกู้สหกรณ์สวนยางกว่า3พันล้านบาท*

01 มิถุนายน 2558, 08:44น.


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ กระทรวงคมนาคม จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า (สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2) พร้อมโครงข่าย จ.ตาก วงเงินรวม 3,900 ล้านบาท



ส่วนการก่อสร้างถนนช่วงเมียวดี-กอกอแระ ระยะทางประมาณ 45 กม. จะมีการส่งมอบในเดือนกรกฎาคมนี้



สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ที่บริเวณบ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก นอกจากช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 แล้วยังเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน Asean Economics Communit- AEC บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ หรือ East-West Economic Corridor  และที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นประตู GATE WAY การค้าชายแดนการค้าอาเซียน ในยุค AEC ของด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดีและตามประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ 1/2558 เรื่องกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ



การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่เห็นชอบให้ กระทรวงการคลังยืมเงินจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) เป็นจำนวน 14,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วนนั้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยรายละเอียดกับกระทรวงการคลังว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นได้เสนอแนวคิดว่า จะให้แบ่งชำระเงินคืนภายใน 3 ปี ได้หรือไม่ ซึ่งอาจแบ่งชำระเงินงวดแรกจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท งวดที่ประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท และงวดที่ 3 ประมาณกว่า 9,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลังมาก่อน โดยในปัจจุบันมีเงินกองทุนอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท หากให้คลังยืมไป จะมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท



การช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า โครงการให้สินเชื่อเพื่อให้สถาบันเกษตรกร รวบรวมยางจากเกษตรกรมีวงเงิน 10,000 ล้านบาท ล่าสุดปล่อยกู้ไปแล้ว 329 สหกรณ์ วงเงิน 3,426 ล้านบาท , โครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยาง มีกรอบวงเงินปล่อยกู้ 5,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 64 แห่ง เป็นเงิน 359 ล้านบาท , โครงการชดเชยรายได้ชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท จ่ายเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 788,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ 7 ล้าน 9 แสน 3 หมื่นไร่ เป็นสินเชื่อ 7,937ล้านบาท จากเป้าหมายที่ต้องจ่ายเงินให้เกษตรกรทั้งสิ้น 8,200 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถปิดโครงการได้ในเดือนมิถุนายนนี้



สำหรับโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยให้องค์การสวนยาง (อสย.) ซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร มีกรอบวงเงินตามที่ได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 รอบ รวมเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท ล่าสุดได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 9,300 ล้านบาท



ขณะที่ โครงการสนับสนุนชาวสวนยางประกอบอาชีพเสริมด้วยการปล่อยสินเชื่อให้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย มีกรอบวงเงิน 100,000 ล้านบาท ล่าสุดได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 42,400 รายเป็นเงิน 3,770 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ไว้ 100,000 ครอบครัว ซึ่งระหว่างนี้ยังรอการส่งรายชื่อจากคณะกรรมการจังหวัดคาดว่าจะสามารถปล่อยกู้ได้ตามเป้าหมาย



ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้เสนองบประมาณปี 2559 วงเงินกว่า 100,000 ล้านบาทเป็นโครงการชดเชยพืชผลการผลิต ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้ามาบริหารประเทศ 50,000 ล้านบาททั้งมาตรการจ่ายชาวนาไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 40,000 ล้านบาท และจ่ายชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 8,200 ล้านบาท รวมถึงโครงการพืชผลการเกษตรอื่นๆ ที่อยู่ในช่วงเดียวกัน



ส่วนเรื่องของสาธารณสุข ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ออกหนังสือแจ้งยกเลิกมติการคัดเลือกการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการใน 2 สายงาน คือนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนเป็นข้าราชการ โดยให้ไปใช้ระบบการสอบคัดเลือกแทน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ลงนามในหนังสืออุทธรณ์คำสั่งของ ก.พ.เพื่อขอให้ผ่อนผันเกณฑ์ในการบรรจุข้าราชการรอบที่ 3 เพราะทาง สธ.ทำตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการคัดเลือกลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ 3 รอบ รอบละ 7,547 คน ที่บรรจุเสร็จไปแล้ว 2 รอบ เหลือรอบที่ 3 ซึ่ง สธ.ก็คัดเลือกลูกจ้างที่จะได้รับการบรรจุเอาไว้แล้ว การที่ ก.พ.ออกคำสั่งมาแบบนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม



ส่วนนายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพ สธ.กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพมีมติให้ร้องศาลปกครองกรณี ก.พ.และล่าสุดศาลปกครองนัดแกนนำเข้าหารือในวันที่ 3 มิถุนายนนี้



นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ซึ่งศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในระหว่างการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณา ทางกระทรวงสาธารณสุขจะตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้สอดคล้องกับร่างกฎหมาย ก่อนที่จะออกเป็นกฎหมาย เพื่อวางรากฐานในการคุ้มครองสุขภาพเยาวชนไทย/คนไทย ให้ห่างไกลจากการตกเป็นทาสของบุหรี่และควันบุหรี่มือสองโดยเร็ว



สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดการห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นมวน และจำกัดอายุผู้ซื้อบุหรี่จากเดิม 18 ปีเป็น 20 ปี รวมทั้งปกป้องคุ้มครองดูแลเยาวชนจากการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ต่างๆ ด้วย



...

ข่าวทั้งหมด

X