อนาคตของนักเรียนชาวอินเดียมากกว่า 3 ล้านกำลังตกอยู่ในความไม่แน่นอน และได้รับผลกระทบจากเหตุทุจริตในหน่วยงานทดสอบแห่งชาติ (National Testing Agency : NTA) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ในการศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์และการรับทุนวิจัย
โดยในกรณีแรก ส่งผลกระทบต่อนักเรียนประมาณ 2 ล้าน 4 แสนคนที่ต้องเข้าสอบคุณสมบัติและทางเข้าระดับชาติ (National Eligibility cum Entrance Test : NEET) เพื่อศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ 100,000 ที่นั่ง ซึ่งในการประกาศผลสอบเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน (2567) มีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของคะแนนสอบและจำนวนผู้ที่สอบได้คะแนนสูง จากนั้นมีการสอบสวนและขยายผลการจับกุมผู้ต้องสงสัยในหลายพื้นที่ของประเทศ พร้อมหลักฐานที่เป็นเอกสารและเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักเรียนหลายคนได้ยื่นคำร้องต่อศาล และมีการจัดกิจกรรมเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจัดสอบใหม่
ต่อมาคือการทดสอบคัดเลือกผู้สมัครเพื่อรับทุนวิจัยที่ได้รับทุนจากภาครัฐ ซึ่งมีผู้สมัคร 1 ล้านคน แต่กลับพบการรั่วไหลของคำถามใน “ดาร์กเน็ต" และสื่อโซเชียลเทเลแกรม ทำให้รัฐบาลอินเดียออกประกาศเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ให้ยกเลิกการทดสอบคุณสมบัติระดับชาติ (National Eligibility Test : NET) ซึ่งเป็นการทดสอบคัดเลือกผู้สมัครเพื่อรับทุนวิจัย
บรรดานักการเมืองฝ่ายค้านของอินเดียและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอินเดีย ที่ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตในการสอบคัดเลือก นายริชิ ชูกลา นักวิจัยด้านกฎหมายในเมืองลัคเนา ซึ่งให้ความช่วยเหลือนักเรียนในการยื่นคำร้องทางกฎหมาย ระบุว่าอาชีพและชีวิตของนักเรียนหลายล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง จากการทุจริตครั้งใหญ่
…
#ทุจริตสอบเข้ามหาวิทยาลัย
#อินเดีย