การประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ โดยมีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในชั้นกรรมาธิการไม่ได้มีการแก้ไขมาตราใด แต่มีผู้แปรญัตติเพียง 2 คน คือ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร เสนอแปรญัตติขอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วน พล.อ. วรพงษ์ สง่าเนตร ขอแปรญัตติแก้ไขถ้อยคำเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้ทำให้สาระสำคัญหายไป
กรรมาธิการส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ควรบังคับใช้หลังจาก 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องด้วยเป็นช่วงเวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ได้มีเวลาเตรียมการ เช่น เตรียมทะเบียนสมรสที่จะใช้ และออกระเบียบให้สอดคล้องกับหลักศาสนาของเจ้าหน้าที่ที่เป็นมุสลิม เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น จากนั้น ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง
+++เห็นชอบ 130 เสียง
+++ไม่เห็นชอบ 4 เสียง
+++งดออกเสียง 18 เสียง
ขั้นตอนหลังจากนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไปยัง ครม. และนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยจะมีผลใช้บังคับ หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปี 2567
การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่รับรองการแต่งงานเพศเดียวกัน ต่อจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศที่ 38 ของโลก ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมและเป็นประเทศแรกของอาเซียนที่มีกฎหมายรองรับ การสมรสของทุกเพศ ซึ่งจะทำให้คู่รักเพศเดียวกันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะสามารถจดทะเบียนสมรส เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายในแง่ต่าง ๆ อาทิ การรับมรดก, การลดหย่อนภาษี และการรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น
#สมรสเท่าเทียม
CR:เพจวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา