สถาบันรอยเตอร์(Reuters Institute)ของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด และสำนักวิจัยตลาดยูโกฟ(YouGov)ของอังกฤษ เผยแพร่ผลวิจัยเรื่องข่าวสารทางดิจิทัล (Digital News Report)ประจำปี 2567 โดยทำการสำรวจในกลุ่มวัยทำงาน 94,943 คนใน 47 ประเทศทั่วโลก ระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ.2567 พบว่า หลายคนเลิกติดตามข่าวสารเนื่องจากมีแต่ข่าวสารที่น่าหดหู่ใจ ซ้ำซากจำเจ ไม่จบสิ้น และน่าเบื่อหน่าย โดยผลวิจัยพบว่า เกือบ 4 ใน 10 คน (หรือร้อยละ 39)ของกลุ่มประชากรที่ศึกษาทั่วโลก ระบุว่า พวกเขาเลิกติดตามข่าวสารในบางครั้งหรือบ่อยครั้ง เทียบกับร้อยละ 29 จากผลสำรวจในปี 2560
ในภาพรวมทั่วโลก ร้อยละ 46 ของกลุ่มประชากรที่วิจัย ระบุว่า พวกเขาสนใจข่าวสารอย่างมาก ลดลงจากร้อยละ 63 จากผลสำรวจในปี 2560 โดยเฉพาะในอังกฤษ ความสนใจติดตามข่าวสารของประชาชนลดลงครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2558
นายนิค นิวแมน หัวหน้าทีมวิจัย ตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวสงครามในยูเครนและการสู้รบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอาจจะมีส่วนทำให้ผู้คนเลิกติดตามข่าวสาร นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีแต่ข่าวเครียดๆเช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และข่าวสงคราม เช่น รัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นธรรมดาที่ผู้คนเริ่มเลิกติดตามข่าวสารด้วยเหตุผลต่างๆเช่น เพื่อปกป้องสุขภาพจิต หรือเพราะต้องการจะใช้เวลาทำเรื่องต่างๆในชีวิตซึ่งสำคัญกว่า
นอกจากนั้น ผลวิจัยดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่คนหลายพันล้านคนทั่วโลกเตรียมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยผลวิจัย พบว่า ประชาชนให้ความสนใจกับเรื่องข่าวเลือกตั้งในบางประเทศ เช่น ข่าวเลือกตั้งในสหรัฐฯ แต่ในภาพรวม ความสนใจข่าวการเมืองเริ่มสนใจลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะสตรีและคนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกสับสนกับปริมาณข้อมูลข่าวสารที่มีจำนวนมาก ทำให้เลิกติดตามข่าวสารโดยปริยาย ขณะที่ บางคนรู้สึกเบื่อข่าวการเมือง
ผลวิจัย ระบุว่า จำนวนผู้ชมที่รับชม หรืออ่านข่าวสารจากสื่อแบบดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ลดลงมากตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่นิยมติดต่อข่าวสารออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ในอังกฤษ เกือบ 3 ในสี่ของประชากร (หรือร้อยละ 73) ระบุว่าพวกเขาอ่านข่าวสารทางสื่อออนไลน์ เทียบกับร้อยละ 50 ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์และเพียงร้อยละ 14 ติดตามข่าวสารทางหนังสือพิมพ์
#อังกฤษ
#ผลวิจัยการติดตามข่าวสาร