จี7 เรียกร้องให้มีการสนับสนุนหน่วยงานของสหประชาชาติทำงานในฉนวนกาซา

15 มิถุนายน 2567, 07:22น.


          ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหรือ จี7 ออกแถลงการณ์ผลการประชุมเป็นเวลา 2 วันที่อิตาลี ซึ่งนอกจากจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ กลุ่มยังมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส โดยระบุว่า หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะหน่วยงานเพื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ (UNRWA) จะต้องได้รับอนุญาตให้ทำงานในฉนวนกาซาอย่างไม่มีอุปสรรค เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือให้กับผู้ที่ต้องการได้มากที่สุด มีการทำงานอย่างปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และสามารถเดินทางผ่านจุดผ่านแดนทุกแห่งได้



          UNRWA ซึ่งประสานงานความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดในกาซา ตกเป็นเป้าหมายการถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สงครามในกาซาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม





          ในแถลงการณ์ ผู้นำจี7 ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต พร้อมสนับสนุนข้อตกลงยุติสงคราม และการปล่อยตัวนักโทษ โดยระบุว่า มีความกังวลอย่างยิ่งต่อผลที่ตามมาจากปฏิบัติการภาคพื้นดินที่ยังคงดำเนินอยู่ในราฟาห์ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการโจมตีอย่างเต็มรูปแบบที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลยุติการโจมตี



           นอกจากนี้ ยังประณามกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานที่มีการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นต่อชาวปาเลสไตน์ ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงและเสถียรภาพในเขตเวสต์แบงก์ คุกคามโอกาสในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน



          ด้าน Oxfam องค์กรการกุศลระหว่างประเทศ มีความเห็นว่า อิสราเอลและกลุ่ม จี7 ต้องเปลี่ยนจากคำพูดเป็นการกระทำ อิสราเอลต้องถอนกำลังออกจากฉนวนกาซา และยุติการยึดครอง





          ในแถลงการณ์ของกลุ่ม จี7 ในครั้งนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการย้ายถิ่นฐาน ปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับยูเครน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อิหร่าน สถานการณ์ในทะเลแดง ความเท่าเทียมทางเพศ และนโยบายอุตสาหกรรมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจีน



          โดยในประเด็นการย้ายถิ่นฐาน นำเสนอโดยอิตาลีเจ้าภาพการประชุม ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางหลักของการที่ผู้อพยพจากแอฟริกาจะเดินทางเข้าสู่ยุโรป นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี แห่งอิตาลีมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อการย้ายถิ่นฐาน มีข้อเสนอให้เพิ่มการลงทุนและเงินทุนให้กับประเทศในแอฟริกา เพื่อลดแรงกดดันด้านการอพยพระหว่างประเทศในยุโรป การประชุมในครั้งนี้นอกจากผู้นำของกลุ่ม จี7 ที่ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาแล้ว เจ้าภาพอิตาลียังได้เชิญผู้นำแอฟริกาหลายคนเข้าร่วมการประชุมด้วย ซึ่งในถ้อยแถลงของกลุ่ม จี7 ระบุว่า ทั้ง 7 ประเทศจะร่วมแก้ไขปัญหานี้จากต้นเหตุ พร้อมปรับปรุงการจัดการชายแดนและปราบปรามกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ



..



#จี7



#G7



#อิสราเอล



#ฉนวนกาซา



#อิตาลี

ข่าวทั้งหมด

X